แนะนำบทเรียน

หน่วยที่ 1ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการจัดสวน

หน่วยที่ 3 โครงงานจัดสวน

บทที่ 7 ขั้นตอนการออกแบบสวน

       

อยากจัดสวนสวยเเต่ไม่รู้ว่าจะเลือกพันธุ์ไม้แบบไหนดี วันนี้เรามีการจัดสวนด้วย “ไม้พุ่ม” มาฝากกันค่ะ ไว้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับใครที่อยากจัดสวนเเต่ยังคิดไม่ออกว่าจะใช้ต้นไม้แบบไหน 

        ไม้พุ่มเรียกอีกชื่อได้ว่าไม้กอ มีทั้งแบบไม้ผลัดใบและไม้ไม่ผลัดใบ เป็นไม้ที่มีลำต้นแตกขยายเป็นพุ่มเตี้ยๆ ในระดับเดียวกับพื้นดิน ทำให้ดูเป็นกอเป็นพุ่ม ความสูงของไม้พุ่มมีตั้งแต่ไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงตั้งแต่ 30 เซนติเมตร ไปจนถึงไม้พุ่มขนาดใหญ่สูงถึง 6 เมตร นอกจากนี้ยังมีต้นไม้อีกหลายชนิดที่เราสามารถจำแนกเป็นไม้พุ่มได้ขึ้นอยู่กับการขึ้นของมัน บางสายพันธุ์ก็จำแนกออกมาเป็นไม้เลื้อยได้อีกด้วย ส่วนไม้พุ่มที่เรามักนิยมใช้ในการทำสวนมักจะเป็นประเภทที่มีใบกว้าง ใบรูปเข็ม หรือพันธุ์ที่มีดอกสวยงาม

        รู้จักกันแล้วมาเริ่มจัดสวนกันเลย!!
✱ สร้างเสต็ปให้น่าดู น่ามอง
        เริ่มจากจัดแบ่งพื้นที่โดยกำหนดความสูงของไม้พุ่มมากกว่า 1 ระดับขึ้นไป จัดวางลดหลั่นกันจากสูงไปต่ำ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของพื้นที่รอบบ้านด้วยว่ามีมากน้อยแค่ไหน โดยการทำสวนไม้พุ่ม 1 สวนสามารถแบ่งพื้นที่ได้มากถึง 3-4 ส่วน โดยเริ่มจาก… 

        “ไม้พุ่มขนาดใหญ่” ควรปลูกไว้ด้านหลังสุด เพื่อเป็นฉากหลังและให้ร่มเงาความเย็นสบาย สร้างจุดเด่นแก่ผู้พบเห็น แล้วสร้างความต่อเนื่องด้วย “ไม้พุ่มขนาดกลาง” ต่อด้วย “ไม้พุ่มขนาดเล็ก” ซึ่งอยู่ด้านหน้าของสวน เพื่อแสดงการสิ้นสุดขอบเขตระดับพื้นและไม่บดบังสายตา ทำให้เกิดสเต็ปเรียงเป็นระเบียบสวยงาม สร้างมิติให้กับต้นไม้ ยิ่งถ้าปลูกต้นไม้ในแต่ละขั้นให้มีสีสันที่แตกต่างกันออกไป ก็จะยิ่งทำให้สวนดูสะดุดตาน่ามอง แค่นี้เราก็จะได้สีสันรอบบ้านจากต้นไม้แบบธรรมชาติโดยที่เราไม่ต้องแต่งเติมอะไรแล้ว
✱ จับคู่สี วัสดุ และต้นไม้สร้างความลงตัว
        ต่อมาเป็นการปรับแต่งให้ลงตัวด้วยการจัดต้นไม้คู่กับวัสดุ สี รวมถึงการสร้างเท็กซ์เจอร์ซึ่งสามารถนำมาแทรกด้วยวิธีต่างๆ เช่น สร้างขอบเขตแต่ละระดับของพุ่มไม้ด้วยการทำรั้วไม้สีน้ำตาลเข้ม เป็นการสร้างสีสันตัดกับต้นไม้ให้เห็นชัดเจนขึ้น รวมถึงการปูพื้นหรือผนัง ยิ่งเราใช้สีหรือวัสดุที่ดูเป็นธรรมชาติก็ยิ่งจะช่วยสร้างกลิ่นอายของความเป็นสวนธรรมชาติที่ร่มรื่นมากขึ้น
✱ รู้ก่อนและหลังจัดสวนไม้พุ่ม
        ก่อนปลูกไม้พุ่มควรเว้นระยะให้พอเหมาะ โดยพิจารณาถึงการเจริญเติบโตของไม้พุ่มนั้นๆ ในกรณีที่เป็นพื้นที่โล่ง ลมพัดแรง ควรทำไม้ค้ำให้กับต้นไม้ เพื่อให้สามารถตั้งตัวและเจริญเติบโตได้ เมื่อแตกใบใหม่แล้วจึงตัดแต่งได้ตามที่ต้องการ
        หลังปลูกควรตัดแต่งกิ่งไม้ที่ไม่ต้องการเพื่อให้ได้รูปทรงที่สมดุล และเพื่อช่วยให้แสงแดดส่องได้ทั่วถึง ทำให้ลมพัดผ่านได้ดีและลดการสะสมของโรคและแมลงด้วย โดยเริ่มจากการเด็ดยอดเพื่อให้ต้นไม้แตกข้างเป็นพุ่มสวยงาม ช่วยเพิ่มต่อยอดใหม่และออกดอกได้มากขึ้น ที่สำคัญควรใช้เครื่องมือที่คมและสะอาดเพื่อลดการบอบช้ำของต้นไม้

        ไม้พุ่มนั้นอาจจะต้องดูเเลเรื่องการตัดเเต่งให้เข้ารูปเข้าทรงหน่อย อาจะทำเป็นรูปอื่นๆ ก็ได้ ตามแบบที่เราชอบ สวนของเราจะได้ออกมาสวยงาม น่ามอง ได้ทั้งวิธีการและเทคนิคการปลูกไปแล้ว วันหยุดสุดสัปดาห์ไหนว่างๆ ก็ลองลุกขึ้นมาตกแต่งสวนกันดูนะคะ นอกจากบ้านของเราจะดูสวยงาม สดชื่นเเล้ว ตัวเรายังได้ออกกำลังกายด้วย 

ที่มา : home2nd.com

วันที่แก้ไขข้อมูลล่าสุด : 02 พฤศจิกายน 2560

 

     

ใบความรู้หน่วยที่4การออกแบบ                             

ขั้นตอนการออกแบบสวน

การออกแบบ (design process) จัดสวนมีขั้นตอนของการออกแบบเพื่อให้ผู้ออกแบบได้เข้าใจถึงสถานที่และจุดประสงค์ของเจ้าของ การออกแบบจะเป็นเรื่องไม่ยากสำหรับผู้ที่คุ้นเคยกับงานทางด้านการออกแบบ แต่สำหรับผู้ที่เริ่มเรียนรู้และไม่ค่อยได้จับดินสอวาดรูปก็จะเป็นการยาก ซึ่งการปฏิบัติเพื่อออกแบบจะยากกว่าการเรียนรู้ในเรื่องทฤษฎีอย่างมาก ในการออกแบบครั้งแรกอาจจะยุ่งยาก ติดขัด แต่ในครั้งต่อ ๆ ไป ก็จะเริ่มง่ายขึ้นเป็นลำดับ

          โดยทั่วไปหลักการในการออกแบบสวนมีขั้นตอนดังนี้

  1. สำรวจสถานที่ (site analysis)

          เป็นการสำรวจหาข้อมูลของสถานที่ให้มากที่สุด  ผู้ออกแบบจะต้องศึกษาสภาพภูมิประเทศของสถานที่นั้น ๆ ข้อมูลที่ควรทราบ คือ

          1.1  สภาพภูมิอากาศ  บริเวณนั้นมีอากาศร้อนหนาว แห้งแล้ง ชื้น มากน้อยเพียงใด ข้อมูลที่ได้จะทำให้สามารถเลือกใช้พรรณไม้ได้ถูกต้อง นอกจากนี้บริเวณดังกล่าวส่วนไหนจะได้รับแสงสว่างมากน้อยอย่างไร ฝนตกชุกหรือไม่   เพื่อเป็นข้อมูลในเรื่องการระบายน้ำจากพื้นที่ ทิศทางลมเป็นอย่างไร ลมพัดแรงจนทำให้พรรณไม้เสียหายหรือไม่

          1.2  บริเวณพื้นที่ สภาพดินเป็นอย่างไร เป็นกรด ด่าง ดินเหนียว ดินร่วน หรือดินปนทราย ลักษณะพื้นที่สูงต่ำมากน้อย  จะต้องถมดินตรงไหน  ขนาดของพื้นที่กว้างยาวเท่าไร  อยู่บริเวณไหนของบ้าน

          1.3  ทิศ ทิศเหนืออยู่ทางไหน การรู้ทิศจะช่วยให้ทราบเรื่องแสงสว่างและทิศทางลม ซึ่งส่งผลในการกำหนดพรรณไม้และสิ่งอื่น ๆ

          1.4  สิ่งก่อสร้าง  ลักษณะอาคาร รวมทั้งสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ   ในบริเวณนั้นเป็นลักษณะใด เพราะการออกแบบจัดสวนจะต้องให้กลมกลืน และเสริมให้อาคารสถานที่นั้นสวยงามเด่นสง่า รวมทั้งเกิดประโยชน์ใช้สอยอย่างเต็มที่

          1.5  พรรณไม้เดิม มีมากน้อยอยู่ในตำแหน่งใด รวมทั้งชนิดของพรรณไม้นั้น ๆ

          ในการสำรวจสถานที่   ผู้ออกแบบอาจจะเขียนแปลนคร่าว ๆ โดยรวมว่าตัวอาคาร บ้านและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ตั้งอยู่อย่างไรในบริเวณที่จะจัดสวน เพราะการจัดจะต้องมีความกลมกลืนระหว่างสวนกับบ้าน อาคารและสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ด้วย ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจสถานที่จะนำมาหาความสัมพันธ์จากภายนอกสู่ภายใน และจากภายในอาคารสู่ภายนอก หาจุดเด่นในสวนที่ภายในจะมองออกมาได้ชื่นชมความงามของสวน

  1. สัมภาษณ์เจ้าของสถานที่ (client analysis)

          เพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับความชอบ  รสนิยม   รวมทั้งงานอดิเรกต่าง ๆ ของสมาชิกในครอบครัว หรือสถานที่นั้น ๆ ข้อมูลที่ได้จะโดยการสอบถาม สังเกต  รวมทั้งการพิจารณาจากสภาพทั่ว ๆ ไป เพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับ

           – ลักษณะของสวน ชอบสวนแบบใด เป็นสวนธรรมชาติ สวนญี่ปุ่น หรือสวนน้ำ เป็นต้น

          – เวลาที่จะใช้ในการดูแลรักษาสวน มีมากน้อยเพียงใด เจ้าของบ้านชอบการทำสวนหรือไม่

          – สมาชิกในครอบครัวมีจำนวนเท่าใด  เพศหญิง/ชาย เด็ก/ผู้ใหญ่ ต้องการทำที่เล่นสำหรับเด็กหรือไม่ สมาชิกในครอบครัวชอบเล่นกีฬา ทำสวน ทำอาหารนอกบ้านฯลฯ

          – ต้องการมุมสงบ เพื่อใช้พักผ่อนหรือไม่

          – แนวโน้มในอนาคตต้องการจะเปลี่ยนแปลงสถานที่เหล่านี้อย่างไร

          – รสนิยมเรื่องสี และวัสดุอื่น ๆ เป็นอย่างไร

          – ความชอบเรื่องพรรณไม้ ในเรื่องของดอก สีดอกเป็นอย่างไร

          – งบประมาณที่จะใช้จัดสวนประมาณเท่าใด

          ข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์จะทำให้รู้ถึงความต้องการของเจ้าของ

  1. วิเคราะห์ข้อมูล (data analysis)

          จากการสำรวจสถานที่และสัมภาษณ์ข้อมูลต่าง ๆ จากเจ้าของแล้ว นำข้อมูลทั้งหมดมาแยกเป็นส่วน ๆ จัดเรียงลำดับความสำคัญจากมากไปหาน้อย ข้อมูลความต้องการของเจ้าของอาจจะมีมากกว่างบประมาณ หรือไม่สัมพันธ์กับแบบของสวนก็อาจจะต้องเลือกสิ่งที่จำเป็นก่อน สิ่งใดที่มีความจำเป็นน้อย หรือใช้สิ่งอื่นที่จำเป็นกว่าทดแทนได้ก็ตัดทิ้งไป ข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้จะช่วยให้การจัดสวนตอบสนองความต้องการประโยชน์ใช้สอยของเจ้าของ แต่ในเรื่องความสวยงามจะเป็นหน้าที่ที่ผู้ออกแบบจะต้องเลือกชนิดของพรรณไม้และองค์ประกอบอื่น ๆ ให้สัมพันธ์กัน เช่น ในครอบครัว  มีคนชราซึ่งต้องการที่พักผ่อนเดินเล่น ก็จะต้องจัดสวนให้มีทางเดินเท้าไปสู่จุดพักผ่อน มีสนามหญ้าให้ความสดชื่น หากมีเด็กเล็กก็ต้องการพื้นที่เล่นภายนอก ก็อาจจะต้องมีบ่อทราย ชิงช้า ไว้บริเวณใกล้บ้านและหากต้องการแปลงไม้ดอก แปลงพืชผักสวนครัว  ก็จะต้องหาจุดที่ตอบสนองความต้องการเหล่านี้ได้ ในเรื่องงบประมาณหากวิเคราะห์ข้อมูลคร่าว ๆ แล้วจะเกินงบประมาณที่วางไว้ ก็อาจจะต้องหาสิ่งอื่นทดแทนตามความเหมาะสม

  1. ใช้วงกลมในการออกแบบ (balloon diagram)

          เมื่อทำการวิเคราะห์ข้อมูลเรียงลำดับความสำคัญจากมากไปหาน้อยแล้ว เลือก

เอาส่วนที่จำเป็นต้องมีภายในสวน ให้แต่ละส่วนเป็นวงกลม 1 วง นำเอาวงกลมเหล่านั้นวางลงในแปลน เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างกันและกันของวงกลมแต่ละวง ระหว่างวงกลมกับตัวบ้าน ดูความเหมาะสมและประโยชน์ใช้สอยในแบบแปลนนั้น ๆ

  1. เขียนแปลน (plan)

แปลน หมายถึง ลักษณะรูปร่างของสถานที่หรือสิ่งของนั้น ๆ โดยมองจากเบื้องบนลงมา (top view) แปลน

สามารถบอกรายละเอียดเกี่ยวกับที่ตั้ง ทิศทางและขนาดของสิ่งต่าง ๆ ภายในแปลนทั้งหมด โดยทั่วไปแล้วแปลน

จะแบ่งออกได้หลายชนิดตามความเหมาะสม คือ

 
   

          5.1  มาสเตอร์แปลน (master plan)  เป็นแปลนที่สมบูรณ์   แสดงส่วนต่าง ๆ ทั้งหมดในพื้นที่กว้างใหญ่ อาจจะมีเนื้อที่เป็นร้อย ๆ ไร่ก็ได้  มาตราส่วนที่ใช้ในมาสเตอร์แปลนใช้ 1:2000

Master Plan คุณรู้จักคำนี้หรือเปล่า เชื่อว่าหลายคนอาจจะไม่รู้จักคำนี้ แต่อาจจะไปรู้จักคำที่เราใช้กันจนติดปากว่า แบบแปลนบ้าน แบบแปลนโครงการ ซึ่งทั้งสองคำนี้ก็มีความหมายเดียวกับคำว่า Master Plan นั้นเอง

          5.2  ไซท์แปลน (site plan)  อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของมาสเตอร์แปลนเนื่องจากมาสเตอร์แพลนมีขนาดใหญ่มาก   ทำให้ขาดรายละเอียดต่าง ๆ ที่เล็กเกินกว่าจะเขียนลงในมาสเตอร์แปลน    ดังนั้นการเขียนไซท์แปลนจะเป็นการขยายบางส่วนของมาสเตอร์แปลนนั้น ๆ หรืออาจจะเป็นมาสเตอร์แปลนเองก็ได้ หากขนาดพื้นที่ไม่ใหญ่มากนัก

            5.3  ดีเทลแปลน (detail palnแผนรายละเอียด)  จะใช้ขยายบางส่วนจากไซท์แปลน เพื่อให้เห็นรายละเอียดชัดเจนยิ่งขึ้น การเขียนแบบจะใช้มาตราส่วน 1:20, 1:50, 1:75 หรือ 1:100 และถ้าพื้นที่มีขนาดเล็กดีเทลแปลนก็อาจจะเป็นมาสเตอร์แปลนในพื้นที่นั้นเลยก็ได้ เช่น สนามเด็กเล็กในมุมหนึ่งของสวนสาธารณะ สวนบริเวณสามแยกเหล่านี้ เป็นต้น   

5.4 สกีมาติคแปลน  (schematic planแผนแผนผัง) เป็นแผนผังแสดงทิศทางการสัญจรและทางเดินหรือความสัมพันธ์ระหว่างจุดต่างๆในแปลน

          5.5  คอนสตรัคชั่นแปลน  (construction plan)  แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องวัสดุต่าง ๆ ขนาดโครงสร้างและสิ่งอื่น ๆ ที่จำเป็น

5.6  แพล้นทิ่งแปลน  (planting plan) เป็นแปลนที่แสดงรายละเอียดชนิดและตำแหน่งของพรรณไม้ รวมทั้งขนาดและจำนวนของพรรณไม้นั้น ๆ การเขียนแปลนเกี่ยวกับพรรณไม้จะต้องทราบขนาดของทรงพุ่มเมื่อโตเต็มที่ เพื่อจะได้วางระยะระหว่างต้นไม้ได้ถูกต้อง การใช้สัญลักษณ์แทนพรรณไม้ อาจเลือกใช้สัญลักษณ์หนึ่งแบบต่อพรรณไม้หนึ่งชนิด หรือใช้สัญลักษณ์เดียวกันแต่ใช้ตัวเลขกำกับแทนชื่อพรรณไม้นั้น การใช้พรรณไม้หลาย ๆ ชนิด ควรใช้ตัวเลขบอกถึงชนิดของพรรณไม้โดยอธิบายชนิดของพรรณไม้ตามตัวเลขนั้น ๆ  ข้างล่างแบบแปลนซึ่งจะทำให้อ่านแบบได้ง่ายขึ้น

          การเขียนแบบแปลนที่ดีและสวยงามไม่สมควรมีอะไรที่ยุ่งยากมากเกินไป     ตำแหน่งของสิ่งสำคัญต่าง ๆ ควรทำให้เด่นชัดโดยใช้หมึกที่มีเส้นหนักและใช้หมึกเส้นเบากับสิ่งทั่ว ๆ ไป ส่วนของสนามหญ้าใช้เส้นเบาลงสีให้สวยงามเหมือนจริง เพื่อให้มองเห็นแล้วสามารถคิดคล้อยตามภาพนั้น ๆ ได้

          5.7  เสตคจิ้งแปลน (staging plan) เป็นแปลนที่แสดงขั้นตอนในการก่อสร้างของมาสเตอร์แปลนโดยเรียงความสำคัญหรือความจำเป็นจากมากไปน้อยตามลำดับ เนื่องจากงบประมาณจะจ่ายเป็นงวด ๆ ของงานนั้น ๆ

          การเขียนแปลนจะช่วยให้ผู้ดูเข้าใจถึงจุดมุ่งหมายของการออกแบบ รู้ถึงจุดต่าง ๆ ตลอดความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องกัน ซึ่งในการเขียนแปลนนี้ หากจะทำให้ผู้ดูเข้าใจแจ่มชัดขึ้น ก็ควรจะเขียนทัศนียภาพ (perspective) ด้วย เพราะภาพ perspective จะมีลักษณะเหมือนภาพถ่าย ซึ่งภาพนี้อาจจะเขียนด้วยลายเส้นขาวดำ หรือจะลงสีให้มีสีสรรเหมือนจริง

การเขียนแปลน

  1. กำหนดทางเดิน  ให้สอดคล้องทั้งภายในและภายนอกตัวอาคาร สังเกตทางเข้าออกตัวบ้าน จัดวางทางเดินให้ได้โดยรอบตัวบ้านจากหน้าบ้านไปหลังบ้าน จากหลังบ้านมาหน้าบ้าน ทางเดินไปจุดต่าง ๆ จัดให้ไหลเวียนไปโดยไม่ติดขัด จากโรงรถก็ควรจะมีทางเดินไปหลังบ้านได้โดยไม่ต้องผ่านภายในบ้าน ทางเดินแต่ละจุดอาจเชื่อมต่อกัน โดยไม่ทำให้สนามหญ้าเสียไป และไม่ควรทำทางเดินที่ไร้จุดหมาย วัสดุที่ใช้ทำทางเดินขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการใช้งาน และรูปแบบของการจัดสวนนั้น ๆ
  2. วางตำแหน่งไม้ต้น เมื่อกำหนดทางเดินภายในสวนแล้ว งานต่อไปคือวางตำแหน่งไม้ต้น  เพราะไม้ต้นจะเป็นไม้ใหญ่มีระดับสูงสุด   และเป็นไม้ที่ให้ร่มเงาในจุดต่าง ๆ ตำแหน่งที่ปลูกไม้ต้น ได้แก่ บริเวณรั้วรอบบ้าน จุดที่ต้องการร่มเงาใช้พักผ่อน ริมถนนไปยังที่จอดรถ ด้านทิศตะวันตกของอาคารที่ใช้เป็นห้องพักฟ่อนรับแขก เหล่านี้ เป็นต้น
  3.           การจัดวางไม้ต้น ถ้าเป็นสวนแบบประดิษฐ์มักจะปลูกเรียงแถวเป็นเส้นตรงตามแนวทางเดินที่กำหนดไว้  ถ้าเป็นสวนธรรมชาติจะปลูกเป็นกลุ่ม 3-5 ต้น การปลูกไม้ต้นนี้อาจจะเป็นชนิดเดียวกัน หรือปลูกสลับกับไม้พุ่มก็ได้ การเลือกใช้พรรณไม้จะต้องระมัดระวัง เพราะพรรณไม้บางชนิดจะต้องการการดูแลทำความสะอาดบริเวณนั้น ๆ ค่อนข้างมาก เนื่องจากการทิ้งใบของพรรณไม้ หรือในกรณีที่มีโรคแมลงรบกวนมากก็ควรจะหลีกเลี่ยงไม่นำมาใช้ และตำแหน่งการใช้งานก็ควรจะพิจารณาเลือกพรรณไม้ให้ถูกต้อง

  1. กำหนดพื้นที่เพื่อประโยชน์ใช้สอยและความงาม เมื่อกำหนดทางเดินและวางตำแหน่งไม้ต้นแล้วพื้นที่ส่วนที่เหลือจะต้องวิเคราะห์ดูว่าจุดไหน เหมาะสำหรับความต้องการอะไร โดยยืดหลักเรื่องประโยชน์ใช้สอยก่อน  แล้วจึงตกแต่งให้เกิดความสวยงามตามมา เช่น บริเวณหลังบ้านจะต้องใช้พื้นที่เป็นส่วนบริการ ใช้ซักผ้า ตากผ้า เก็บของ เหล่านี้ เป็นต้น ลานซักล้างจะต่อเนื่องจากห้องครัวบริเวณพื้นต้องเป็นซีเมนต์  เมื่อกำหนดส่วนใช้สอยแล้วจึงพิจารณาพรรณไม้ประดับตกแต่ง ปิดบังส่วนที่ไม่ต้องการให้บุคคลอื่นเห็น

           บริเวณใกล้ห้องรับแขก ห้องพักผ่อน วางตำแหน่งจัดสวนหย่อม อาจจะทำน้ำตก น้ำพุ หรือสระน้ำ เลี้ยงปลา ปลูกบัว เพื่อให้มองเห็นได้จากภายในสู่ภายนอก การจัดสวนหย่อมควรมีเพียง  1-2 จุดเท่านั้น    หากมีมากเกินไปจะทำให้ความเด่นของสวนลดน้อยลงส่วนพื้นที่อื่น ๆ เช่น มุมพักผ่อน   สนามเด็กเล่น   แปลงไม้ดอก  ควรจะ กำหนดลงไป พร้อมพรรณไม้และวัสดุอื่น ๆ

          การวางพรรณไม้ลงในจุดต่าง ๆ จะต้องพิจารณาเรื่องแสงประกอบด้วยเพราะพรรณไม้ที่ใช้ต้องการแสงสว่างมากน้อยต่างกัน ในจุดที่มีแสง เช่น ริมทางเดิน ถนน ควรเลือกใช้ไม้ต้นหรือไม้พุ่ม เช่น หูปลาช่อน เข็ม หรือจะเลือกใช้ไม้ดอก เช่น บานบุรี พวงทอง ช้องนาง ปลูกสลับกับไม้ต้นก็ได้

          บริเวณมุมสนามระหว่างถนนกับระเบียง จุดนี้จะต้องมีการจัดวางพรรณไม้ เพื่อเพิ่มความสวยงามลดความกระด้างของแนวถนน    การจัดวางพรรณไม้อาจจะใช้ไม้ตระกูลปาล์มร่วมกับไม้คลุมดิน หรือไม้พุ่ม ก้อนหินร่วมกับไม้คลุมดินก็ได้

          ในกรณีที่เจ้าของสถานที่ต้องการปลูกไม้ผลและทำสวนครัว   ก็ควรจะกำหนดจุดนี้ไว้บริเวณหลังบ้านที่ได้รับแสงแดดจัด มีไม้ผลบางชนิด เช่น  สาเก  ละมุดสีดา   ซึ่งสามารถนำมาปลูกตกแต่งบริเวณบ้านได้

          ในการออกแบบจัดสวน หากมีพื้นที่มากพอควรทำสนามหญ้าด้วย เพราะสนามหญ้าจะช่วยให้สวนนั้นสวยงามยิ่งขึ้น บริเวณพื้นที่ที่ทำสนามหญ้า ควรเป็นด้านหน้าซึ่งได้รับแสงแดดเต็มที่ รูปแบบของสนามหญ้าจะเป็นรูปใดขึ้นอยู่กับชนิดของสวนนั้น ๆ

          การจัดสวนก็คล้ายกับการเขียนภาพสี ซึ่งภาพที่ออกมาจะสวยงามหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการจัดวางสิ่งต่าง ๆ  รู้จักธรรมชาติของพรรณไม้ รวมถึงสีสัน ทรงต้น ตลอดจนการดูแลรักษาพรรณไม้เหล่านั้น    การออกแบบสวนที่สวยงามจะต้องมีความเป็นระเบียบไม่ว่าจะเป็นสวนแบบประดิษฐ์หรือสวนแบบธรรมชาติ มีจุดเด่นไม่มากเกินไป   มีการเชื่อมโยงสัมพันธ์กันระหว่างจุดต่างๆ ตลอดจนให้ประโยชน์ใช้สอยในพื้นที่นั้น ๆ ได้ตามความต้องการ

          การออกแบบแต่ละครั้ง ถ้าหากผู้ออกแบบได้ศึกษาหาข้อมูลต่าง ๆ อย่างละเอียดถี่ถ้วน ทราบปัญหาทุกอย่างในสถานที่นั้น ๆ แล้ว แบบที่ออกมาจะมีโอกาสใช้ได้เป็นที่น่าพอใจถึง 80 เปอร์เซ็นต์ การออกแบบที่ดีควรให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขแบบน้อยที่สุด เมื่อนำไปใช้จัดสวนจริงๆเพราะในขณะทำการจัดสวนถ้าหากมีการเปลี่ยนแปลงแบบมากเกินไป ก็จะทำให้ความเชื่อถือลดน้อยลง