แนะนำการเรียนการสอน

หน่วยที่ 1 ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับไม้ดอกไม้ประดับ

หน่วยที่ 2สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ

หน่วยที่ 3 การดูแลรักษาไม้ดอกไม้ประดับโดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพ

รวมมอบหมายงาน

บทเรียนที่2 ประเภทไม้ดอกไม้ประดับ

ผลการเรียนiรู้ที่ 2 บอกลักษณะและประเภทของไม้ดอกไม้ประดับ

ประเภทไม้ดอกไม้ประดับ 5 ประเภท

ไม้ตัดดอก               ไม้กระถาง              ไม้ตัดใบ  ไม้เด็ดดอก             ไม้จัดสวน (ประเภทไม้คลุมดิน            ไม้จัดสวนประเภทไม้ยืนต้น  ไม้จัดสวนประเภทไม้พุ่ม       )

เอกสารความรู้

เรื่อง  ประเภทของไม้ดอกประดับ

การจำแนกไม้ดอกประดับ  มีความจำเป็นและมีความสำคัญอยู่มากที่จะต้องทราบเพื่อพิจารณาและนำไปใช้ได้ถูกต้อง  โดยอาศัยเกณฑ์จำแนกดังนี้

  1. การแบ่งประเภทพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับตามหลักพฤกษศาสตร์ (Botanical  classification)
การแบ่งประเภทพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับ    ตามหลักพฤกษศาสตร์นั้นมีความมุ่งหมายเพื่อจำแนก
พันธุ์ไม้ทั่ว ๆ ไปให้แน่ชัดในรูปร่าง  ลักษณะ  นิสัย  การดำรงชีวิต  และการสืบพันธุ์ของพันธุ์ไม้ที่อยู่เป็นกลุ่ม    เป็นพวกที่แน่นอน    ไม่ปะปนสับสนกัน    มีพันธุ์ไม้หลายชนิดที่มีลักษณะคล้ายกันมาก  
แต่ก็ไม่เหมือนกันและไม่ใช่ชนิดเดียวกัน  ดังนั้นในการแบ่งหรือจำแนกพันธุ์ไม้นั้น   จึงพยายามศึกษาคุณสมบัติต่าง ๆ ในทางสรีรวิทยาของมัน  เช่น  ลักษณะต้น  ใบ  ดอก  ผล  การขยายพันธุ์  เพื่อคัดจำแนกเอาพันธุ์ที่มีลักษณะส่วนใหญ่ ๆ  เหมือนกันรวมไว้เป็นพวกเดียวกัน และในลักษณะใหญ่ ๆ  ที่เหมือนกันในพวกเดียวกันนั้น  เมื่อมีลักษณะปลีกย่อยต่าง ๆ  กันไป    คัดแยกประเภทออกไปอีก   เป็นประเภทและชนิดเดียวกันออกไปจนถึงที่สุด  ที่มีลักษณะเกือบทุกอย่างอยู่ในประเภทและชนิดเดียวกันเกือบทุกอย่างคงผิดกันแต่เรื่องปลีกย่อยเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ต่างกันเท่านั้น  พันธุ์ที่มีลักษณะอย่างเดียวกันอยู่ในพวกเดียวกันก็มีชื่อตามพวกและหลักเดียวกัน  จนในที่สุดการจำแนกที่ละเอียดลงมาก็จะมีชื่อที่แน่นอน
ไม่ปะปนและซ้ำกัน  ทำให้เกิดการไขว้เขวและปะปนเข้าใจผิดกันได้       ชื่อที่ตั้งให้นั้นจะเรียกว่า 
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ (Scientific name) ซึ่งประกอบด้วยชื่อสกุล (Genus)  แล้วตามด้วยชื่อชนิด (Species)  ถึงอย่างไรก็ตามยังมีพันธุ์ไม้อีกมากมาย  ที่ยังค้นไม่พบจึงไม่อาจสรุปได้ว่า  การแบ่งพันธุ์ไม้ดอก
ไม้ประดับ  ตามหลักพฤกษศาสตร์นั้นเป็นหลักที่แบ่งพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับได้อย่างแน่นอน  และ
มีความสำคัญอย่างยิ่งในระหว่างหลักพิจารณาแบ่งพันธุ์ไม้  เป็นหนทางนำไปสู่ชื่อวิทยาศาสตร์  ที่จำเป็นต้องใช้อยู่เสมอเป็นประจำโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย

การตั้งชื่อและการเรียกชื่อพืชทางพฤกษศาสตร์

ในโลกเรานี้มีพรรณไม้อยู่มากมายหลายชนิด  ต้นไม้ชนิดหนึ่ง ๆ สามารถเจริญเติบโต

กระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก  การเรียกชื่อต้นไม้ต้นหนึ่ง ๆ จึงต้องมีการกำหนดหรือ

จัดระบบการเรียกเป็นเกณฑ์มาตรฐานเพื่อความเข้าใจที่ตรงกันของคนทั่วโลก

ชื่อของพืชที่ใช้อ้างอิงในปัจจุบันมี  2  ชนิด  คือ

  1. ชื่อสามัญ (Common name)  เป็นชื่อที่เรียกขานกันทั่วไปโดยกำหนดตามลักษณะของ

ต้นไม้นั้น ๆ ตามที่มองเห็น เรียกตามถิ่นกำเนิดที่ค้นพบ เรียกตามประโยชน์ที่ได้รับจากต้นหรือเรียกตามชื่อผู้ค้นพบพืชนั้น ๆ  เป็นคนแรกก็ได้พืชชนิดเดียวกันอาจมีชื่อสามัญหลายชื่อแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่น  (Heliconia caribaea Lamarck “Purpurea” เรียกชื่อสามัญต่างกันไปหลายชื่อ  กล่าวคือที่ฮาวายเรียกกันว่า Burgundy Rea Caribaea. Red Caribe  แต่ทางคอสตาริกา เรียกว่า  Volcano Red เป็นต้น

  1. ชื่อทางวิทยาศาสตร์ (Scientific name) เป็นชื่อเรียกสากลที่มีกฎเกณฑ์เฉพาะตั้งขึ้นโดย 

Carolus Linnaeus (1753) นักชีววิทยาชาวสวีเดน  บิดาแห่งอนุกรมวิธานกำหนดให้สิ่งมีชีวิตมีชื่อประกอบด้วยคำ  2  คำ  คำแรกเป็นชื่อสกุลหรือจีนัส  (Genericname or genus)  คำหลังเป็นคำระบุชนิด  (Specific epithet)  นำคำทั้งสองมาเขียนเรียงกันเรียกกระบวนการตั้งชื่อแบบนี้ว่า  การตั้งชื่อคู่ (Binomial nomenclature)

ชื่อทางวิทยาศาสตร์เป็นชื่ออ้างอิง  ที่ใช้กันเป็นสากลมากกว่าชื่อสามัญ  เนื่องจากดังที่กล่าว

มาข้างต้นว่า  ชื่อสามัญของพืชหนึ่ง ๆ  อาจจะมีชื่อเรียกชื่อหลายชื่อต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น  ดังนั้นพืชสองชนิดอาจจะมีชื่อสามัญชื่อเดียวกันก็ได้  ทำให้เกิดความเข้าใจสับสนได้ง่าย แต่ชื่อทางวิทยาศาสตร์นั้น  จะเป็นชื่อเฉพาะของต้นไม้แต่ละต้นและเป็นชื่อที่ถูกต้องเพียงชื่อเดียวเท่านั้น

                 นอกจากชื่ออ้างอิงทั้งสองชนิดที่กล่าวข้างต้นแล้ว  ยังมีชื่อเรียกชนิดอื่น ๆ  ที่นิยมใช้ในปัจจุบันเช่น

  • ชื่อตั้งทางการค้า (Commercial name) เป็นชื่อเรียกเพื่อที่ตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์ในการติดต่อ

ซื้อ – ขายเพื่อความเข้าใจที่ตรงกันของผู้ซื้อ – ขาย  เช่น  Sassy  เป็นชื่อ Heliconia psittacorum “sassy”  

  • ชื่อตั้งประจำท้องถิ่น (Local name)  เป็นชื่อเรียกที่ตั้งขึ้นตามแต่ละท้องถิ่นนั้น ๆ  เช่น

นมพิจิตร  เป็นชื่อเรียกของ Hoya parasitica ในภาคกลาง 

  • ชื่อเรียกตามสมัยนิยม (Popular name)  เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นในช่วงที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง  เช่น บุคคล

สถานที่  กำลังเป็นที่นิยมในขณะนั้น  เช่น  Mussaenda “Queen Sirkit” (ดอนญ่า ควีนสิริกิต์)  รัฐบาลฟิลิปปินส์  ได้ขอพระราชทานพระนามเป็นชื่อดอนย่าพันธุ์ใหม่  เมื่อครั้ง  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ  พระบรมราชินีนาถเสด็จฯ เยือนประเทศฟิลิปปินส์  ในปี  พ.ศ.  2506

หลักเกณฑ์การตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์

  1. ชื่อวิทยาศาสตร์ของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดต้องแยกจากกันอย่างเด่นชัด เป็นอิสระไม่ขึ้นต่อกัน
  2. ชื่อวิทยาศาสตร์ในแต่ละหมวดหมู่จะต้องมีชื่อที่ถูกต้องเพียงชื่อเดียวเท่านั้นส่วนอื่น ๆ จัดว่า

เป็นชื่อพ้อง (Synonym)

  1. ชื่อวิทยาศาสตร์ต้องเป็นภาษาละติน ไม่ว่าจะมีรากศัทพ์มาจากภาษาใด ๆ ก็ตามเหตุที่ใช้

ภาษาละตินเป็นหลักเนื่องจากภาษาละตินเป็นต้นกำเนิดของภาษาหลายภาษา  ภาษาในประเทศในแถบยุโรปเป็นส่วนใหญ่  และภาษาละตินถือว่าเป็นภาษาที่ตายแล้ว  กล่าวคือจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงในภายหลัง

  1. การตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์ถือตามระบบการตั้งชื่อคู่ คือประกอบด้วยคำ 2  คำเสมอ  คำแรก

เป็นชื่อสกุล  อักษรตัวแรกของสกุล  ให้ใช้อักษรตัวพิมพ์ใหญ่  ส่วนคำหลังเป็นคำระบุชนิดควรเป็นคำเดียวหรือคำผสมที่ระบุให้ชัดเจนลงไปและขึ้นต้นด้วยอักษรตัวพิมพ์เล็ก

  1. การเขียนชื่อวิทยาศาสตร์ต้องให้มีลักษณะแตกต่างจากอักษรอื่น โดยอาจเขียนด้วยตัวเอน

หรือขีดเส้นใต้  โดยเส้นที่ขีดนั้นนั้นต้องไม่ติดกัน

  1. ผู้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ให้เขียนไว้ข้างงหลังโดยนำตัวอักษรตัวใหญ่ ไม่ต้องเขียนด้วยตัวเอน

หรือขีดเส้นใต้  โดยปกติอาจจะเขียนเป็นชื่อเต็มหรือชื่อย่อก็ได้  เช่น  Linn.  เป็นชื่อย่อของ Linnaeus

เป็นต้น  ซึ่งในบางครั้งชื่อผู้ตั้งอาจจะมีมากกว่า 1 ชื่อก็ได้  เช่น

  • Heliconia mathiasiae Daniais & Stiles หมายความว่าชื่อวิทยาศาสตร์ร่วมกันตั้งโดย

Daniais และ  Stiles        

  • Hibiscus acetosella Welw.ex Hieen. หมายความว่าชื่อวิทยาศาสตร์นี้ตั้งขึ้นโดย Welw

โดยมี Hieen  เป็นคนอธิบายลักษณะเพิ่มเติมในภายหลัง

  • Polyscias guilfoylei (Bull) L.H.Bail. หมายความว่าชื่อวิทยาศาสตร์นี้ตั้งขึ้นโดย

L.H.Bail. ส่วน Bull  นั้นเป็นผู้ค้นพบพืชชนิดนี้   แต่ใช้ชื่อทางวิทยาศาสตร์อีกชื่อหนึ่ง  ซึ่งถือว่าเป็นชื่อพ้อง  ชื่อที่ถูกต้องคือชื่อที่ตั้งขึ้นครั้งแรกเพียงชื่อเดียวเท่านั้น

  1. ชื่อของชนิดนั้นโดยปกตินิยมตั้งตามลักษณะ  4  ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง   คือ
    • ถิ่นกำเนิด (origin)  เช่น Heliconia indica    คำว่า indica  หมายถึงประเทศ

อินเดีย

  • ถิ่นที่อยู่ (habitat)  เช่น  Orontium aquaticum Linn.  คำว่า aquaticum หมายถึงอยู่ในน้ำ
  • ลักษณะเฉพาะตัว เช่น  Saintpaulia ionantha Wendl.  คำว่า ionantha  หมายถึงลักษณะ

ดอกคล้ายดอกไวโอเลต

  • ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่คนหรือสถานที่ เช่น  Paphiopedilum sukhakulii  มาจากนาม

สกุลของคุณประสัน  สุขะกุล  ผู้ค้นพบพืชต้นนี้ในประเทศไทยเป็นคนแรก , กันภัยมหิดล Afgekia mahidolae Burtt & Chermsirivathana  คำว่า mahidolae ตั้งขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่สมเด็จ

พระศรีนครินทราบรมราชชนนี

โดยปกติแล้วพืชที่อยู่ในชนิดเดียวกันนั้น  อาจจะมีลักษณะปลีกย่อยที่แตกต่างกันออกไป

เช่น  มีสีต่างกันออกไป  รูปร่างลักษณะของดอกเปลี่ยนไป  ลักษณะของการเจริญเติบโตเปลี่ยนไป  เป็นต้น  ซึ่งพืชเหล่านั้นสามารถเจริญเติบโตในสภาพธรรมชาติและดำรงเผ่าพันธุ์สืบต่อไปนักพฤกษศาสตร์  ก็จะตั้งชื่อพืชนั้นๆ เป็นพิเศษต่อไป  โดยจะเพิ่มชื่อต่อท้ายที่เรียกกันว่า พันธุ์  (variety)  แต่คำว่าพันธุ์ในความหมายของทางพืชสวนนั้นจะหมายถึงพรรณไม้ที่เกิดขึ้นจากการผสมพันธุ์ของมนุษย์  และนำมา

ปลูกเลี้ยง  (cultivated plants or cultivated variety)  เรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า cultivar  ใช้อักษรย่อ cv. หรือสัญลักษณ์  ซึ่งอาจเกิดจาก

  1. สายต้น  (clone)  เป็นพืชที่ได้มาจากการขยายพันธุ์โดยไม่อาศัยเพศ (vegetative propagation) แล้วมีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกันโดยไม่จำเป็นต้องมีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนต้นแม่ก็ได้  แต่ทั้งนี้  cultivar ก็ไม่จำเป็นต้องเป็น  clone เสมอไปก็ได้
  2. สายพันธุ์  (line)  ได้จากการผสมพันธุ์พืชพันธุ์ใดพันธุ์หนึ่งซึ่งมีลักษณะเหมือนขยายพันธุ์โดยเมล็ดหรือสปอร์  แล้วยังคงลักษณะเดิมอยู่โดยการคัดเลือกจนได้พันธุ์ที่ดีใช้เป็นมาตรฐานได้
  3. ส่วนของพืชที่มีกรรมพันธุ์ผิดแปลกไป  โดยจะมีลักษณะหนึ่งหรือหลายลักษณะต่างจาก cultivars
  4. F1  hybrid  คือพันธุ์พืชซึ่งเกิดจากการผสมพันธุ์ 2 หรือมากกว่า 2 สายพันธุ์ขึ้นไป  ที่อาจเป็น สายพันธุ์ (line)  หรือเป็น   สายต้น (clone)

            ในกรณีที่พืชต้นนั้น ๆ เกิดการกลายพันธุ์หรือมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปจากต้นเดิมเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น  สีของผลหรือกลีบดอกเปลี่ยนไปเราจะจัดให้พืชต้นนี้อยู่ในชั้น Forma หรือ form เขียนอักษรย่อว่า f. อย่างไรก็ตาม ชั้นในการจำแนกที่เล็กที่สุดคือ clone หรือ individual เป็นพรรณแบบไม่ใช้เพศจากต้นที่กลายเป็นลักษณะเฉพาะอย่าง ไม่สามารถแบ่งแยกออกไปได้อีก เช่น ถ้าเราขยายพันธุ์แบบไม่ใช้เพศจากต้นที่กลายลักษณะ (เช่น form) ต้นที่ได้ใหม่จะเป็น clone หรือ individual 

  1. การแบ่งพันธุ์ไม้ตามลักษณะของเนื้อไม้

หมายถึง การแบ่งลักษณะพันธุ์ไม้ตามลักษณะของเนื้อไม้  ที่อาจแบ่งออกได้ 2  ลักษณะคือ

  1. ไม้เนื้ออ่อน  (Herb และ Succulent  Plants ) หมายถึงพันธุ์ไม้ที่มีน้ำในเนื้อไม้สูง จึงทำให้เนื้อไม้อ่อนอวบอิ่มไปด้วยน้ำ เมื่อระเหยน้ำออกจะทำให้รูปทรงของต้นไม้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก  พันธุ์ไม้พวกนี้มีเนื้อเยื่อ(Cellulose) บางชนิดขึ้นอยู่ในที่มีความชื้นสูงและมีน้ำมาก แต่บางชนิดก็ขึ้นอยู่ในที่แห้งแล้ง และมีความสามารถเก็บน้ำไว้ในลำต้นได้ดี เช่น  พวก (Cacti และ Succulent  Plants) ทั่วๆไป พวกพืชผัก (Vegetable) ส่วนมากมีน้ำมาก  พวกพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับ ที่อยู่ในลักษณะนี้มีมากมายด้วยกัน เช่น ฤาษีผสม  เยอบีร่า  Fittonia  Syngonium ฯลฯ พันธุ์ไม้พวกนี้ส่วนมากขยายพันธุ์โดยการแยกหน่อ  แยกกอ  และปักชำจากลำต้น
  2.   ไม้เนื้อแข็ง  (Woody  plants)หมายถึงพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับบางชนิดที่มีเนื้อไม้(woody)ทำให้ลำต้นกิ่งก้านมีรูปทรงอยู่ได้ มีเนื้อเยื่อเจริญ (Cambium) ดังนั้นพันธุ์ไม้พวกนี้จึงสามารถขยายพันธุ์โดยการตอน  ติดตา ทาบกิ่ง ปักชำ และต่อกิ่งได้ เพราะมีเนื้อไม้ที่  Cambium เจริญรวดเร็ว ไม้ดอกไม้ประดับที่อยู่ในประเภทนี้ก็มีมาก ซึ่งส่วนมากเป็นไม้พุ่มและต้นไม้  (tree) เช่นกุหลาบ โกสน  เล็บครุฑ จำปา  จำปี  ยางอินเดีย  ชบา  เฟื่องฟ้า  มะลิ  ราตรี  ยี่โถ ฯลฯ
  3. การแบ่งพันธุ์ไม้ตามถิ่นกำเนิด

ในที่นี้หมายถึง  พันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับที่มนุษย์นำมาเพาะปลูกโดยแยกออกตามถิ่นกำเนิด

ที่นำมาได้ 2  ลักษณะใหญ่ ๆ คือ

  1. ไม้ป่าหรือไม้พื้นเมือง (Wild and  Native  Plants) หมายถึงพันธุ์ไม้ที่มนุษย์นำมาจากถิ่นกำเนิดเดิมของมันโดยตรง เช่น นำมาจากป่าตามธรรมชาติของมันที่ขึ้นเจริญงอกงามอยู่  พันธุ์ไม้พวก

นี้จะมีลักษณะพื้นเมืองและป่าของมันอยู่มาก เมื่อนำเอามาปลูกในบ้านต่างถิ่นออกไปอาจมีการเปลี่ยนแปลง เช่น การเจริญเติบโตช้าไปหรืออาจตรงข้าม คือ เจริญเติบโตได้ดีขึ้น  มีคุณสมบัติดีขึ้น

จากถิ่นฐานเดิมก็เป็นได้  พันธุ์ไม้พวกนี้เป็นพันธุ์ไม้ขึ้นตามธรรมชาติจริง ๆ ยังไม่ถูกดัดแปลง ปรุงแต่ง ให้ผิดไปจากเดิมโดยมนุษย์เลย

            2.ไม้ลูกผสมและไม้พันธุ์แท้  หมายถึงพันธุ์ไม้ที่มนุษย์นำมาเพาะปลูก เลี้ยงดูให้การเอาใจใส่อย่างดี  จนพันธุ์ไม้นั้นมีลักษณะนิสัยความเคยชินกับสิ่งแวดล้อม  ทำให้เปลี่ยนคุณสมบัติและความเจริญเติบโตได้ดีต่างกับลักษณะที่เคยอยู่ตามธรรมชาติไปมากหรือพันธุ์ไม้ป่าตามธรรมชาติที่ถูกมนุษย์ดัดแปลงปรุงแต่ง ให้มีคุณสมบัติผิดไปจากธรรมชาติเดิม เช่น  การนำมาผสมพันธุ์แท้หรือนำมาผสมข้ามพันธุ์ เพื่อให้มีคุณสมบัติลักษณะตามความต้องการของตน  พันธุ์ไม้ประเภทนี้ส่วนมากจะมีความแข็งแรงทนทานต่อดินฟ้าอากาศในธรรมชาติของมัน แต่เมื่อมนุษย์นำมาปรุงแต่งให้ผิดไปจากธรรมชาติแล้ว 

เมื่อนำพันธุ์ไม้นั้น ๆ กลับไปปลูกในธรรมชาติเดิมของมัน อาจจะไม่มีความทนทานแข็งแรงเช่นเดิม

อาจไม่เจริญเติบโตได้เท่าที่เคยมีมาแล้วก็ได้ มีพันธุ์ป่าหลายชนิดที่กลายเป็นพันธุ์ไม้บ้านหรือกลายเป็นพันธุ์แท้ไปแล้วมากมาย ก็ด้วยการปรุงแต่งของมนุษย์

  1. การแบ่งพันธุ์ไม้ตามลักษณะนิสัยของอายุพันธุ์ไม้

พันธุ์ไม้ทั่ว ๆ ไปมีอายุยืนนานแตกต่างกัน บางชนิดอาจมีอายุยืนนาน แต่บางชนิดก็จบชีวิตลงใน

ระยะอันสั้น คงมีแต่เมล็ดหรือส่วนอื่นสืบพันธุ์แทนต่อไป ในรอบชีวิตหนึ่ง ๆ ของพันธุ์ไม้นั้น นับจากพันธุ์ไม้งอกงามจากเมล็ดจนเจริญเติบโต และออกดอกออกผลกลับมาเป็นเมล็ดเช่นเดิม ซึ่งอาจแบ่งอายุของพันธุ์ไม้ได้ 3 ลักษณะด้วยกันคือ

  1. Annuals  หมายถึงพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับที่ทั่ว ๆ ไปเรียกว่าไม้ล้มลุก นับจากงอกจากเมล็ดจนเจริญเติบโต และออกดอกเป็นเมล็ดอีกครั้งหนึ่งนั้นอยู่ในระยะเวลาสั้น ไม่เกินหนึ่งปี  ซึ่งส่วนมากพันธุ์ไม้ล้มลุกนี้เป็นพวกไม้ดอกหลายชนิดเช่น บานชื่น ดาวเรือง ผีเสื้อ บานไม่รู้โรย  พิทูเนีย  ทานตะวัน  พันธุ์ไม้พวกนี้จะตายเมื่อออกดอกออกเมล็ดหมดแล้ว ดังนั้นพันธุ์ไม้พวกนี้ จึงมีอายุไม่เกินหนึ่งปี
  2. Biennials  หมายถึงพันธุ์ไม้ที่มีอายุครบรอบหนึ่งๆ เกินกว่า 1 ปี  หมายถึงว่าในปีแรกมีการเจริญเติบโตทางกิ่ง ใบ  ลำต้น  ในปีที่สองจึงออกดอกออกผล  แล้วจึงจบชีวิตในรอบหนึ่งของมัน  เช่น ซ่อนกลิ่นฝรั่ง(Gladiolus)           
  3. Perennials  หมายถึงพันธุ์ไม้ที่มีอายุนานกว่าสองปี  บางชนิดอาจจะออกกอกในปีแรกก็ได้  แต่เมื่อออกดอกออกผลแล้วยังไม่ตายและจบชีวิต  คงมีดอกมีผลเป็นครั้งที่ต่าง ๆ กัน ซึ่งมีทั้งต้นเล็กจนขนาดใหญ่ที่สุดก็ได้
  4. การแบ่งพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับตามลักษณะสิ่งแวดล้อมของแสง

            พันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับหลายชนิด ย่อมต้องการแสงสว่างในการเจริญเติบโตต่างกันบางชนิดก็ต้องการแสงแดดโดยตรงก็มี  เช่น  พวกกุหลาบหรือพวกทานตะวันหรือพันธุ์ไม้ใหญ่ ๆ แต่บางชนิดก็ต้องการแสงสว่างรำไร  หรือไม่ต้องการแสงแดดโดยตรง  หรือต้องการแสงเป็นบางส่วนของวันเท่านั้น ดังนั้น  ในการจำแนกพันธุ์ไม้ตามลักษณะประเภทนี้จะช่วยให้เราเข้าใจได้ว่า ไม้ดอกไม้ประดับชนิดไหนมีความต้องการแสงอย่างไร เพื่อจะได้นำไปรักษาดูแลได้ถูกต้อง ตัวอย่างเช่น พันธุ์ไม้พวกสาวน้อย

ประแป้ง  นั้นไม่ชอบแสงแดดโดยตรง  แต่มีผู้เลี้ยงต้นไม้หลายคนไม่เข้าใจนำไปปลูกลงในดินกลางแจ้ง  ในไม่ช้าก็ไหม้และไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้  ตามสิ่งแวดล้อมในเรื่องแสงกับพันธุ์ไม้ดอก

ไม้ประดับนี้แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทด้วยกันคือ

  1. ไม้ในร่ม  (Indoor  plants)  พันธุ์ไม้พวกนี้ส่วนใหญ่มีใบหรือดอกที่บอบบางไม่สามารถทนทานต่อแสงแดดที่ร้อนหรือแสงสว่างที่มากเกินไป  บางชนิดมีการระเหยน้ำได้สูงมาก  ถ้าหากอยู่ใน

ที่มีแสงแดดแรง อุณหภูมิสูง  การระเหยน้ำก็มีมากจนไม่สามารถทนอยู่ได้พันธุ์ไม้พวกนี้บางชนิดจะเจริญเติบโตได้ดีในที่มีแสงแดดอ่อน ๆ หรือในที่ที่มีความชื้นสูง ๆ มีลมสงบ จึงเหมาะที่จะนำมาปลูก

ในอาคาร ในร่ม  เพื่อใช้ประดับตกแต่งอาคารภายใน นอกจากนี้  ยังมีพันธุ์ไม้อีกหลายชนิดที่ไม่สามารถทนทานกับความหนาวเย็นในอุณหภูมิที่ต่ำ ๆ ได้ เช่น  ในเมืองหนาว จึงต้องนำมาปลูกในร่มหรือในบ้าน  หรือในเรือนต้นไม้ที่เหมาะสมกับมันโดยเฉพาะ  สำหรับในเมืองไทยเรามีพันธุ์ไม้หลายชนิดที่เจริญเติบโตได้ดีในร่ม  ทั้งไม้ดอกและไม้ใบ  เช่น  หน้าวัว  เฟิร์นต่าง ๆ ดาษตะกั่ว  บอนต่าง ๆ Peperomia  พวกกำมะหยี่ ( Episcia sp.) กล้วยไม้บางชนิด  African  violet  สาวน้อยประแป้ง (Dieffenbachia) ไฮเดรนเยีย Dracaena  บางชนิด และพวกไม้คลุมดินโคนต้นไม้ใหญ่ ๆ อีกมาก

  1. ไม้กลางแจ้ง (Outdoor plants)  พันธุ์ไม้พวกนี้ขึ้นได้ดีเจริญเติบโตในที่มีแสงแดดส่อง

โดยตรงกลางแจ้ง  ถ้านำมาปลูกในที่ร่มแล้วจะเจริญเติบโตหรือเจริญเติบโตไม่สมบูรณ์ ไม่ถูกส่วนของมันตามธรรมชาติ  ถ้าปลูกพันธุ์ไม้พวกนี้ในร่มแล้วใบจะมีสีเขียวจัด ต้นสูงชะลูดไม่งาม  ถ้าเป็นพันธุ์ไม้

ที่มีสีสันทางดอกหรือใบแล้ว  สีจะเปลี่ยนแปลงเลวลง พันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับประเภทนี้มีเป็นส่วนมากที่ต้องการแสงแดดโดยตรง  เช่น  สนต่าง ๆ  ปาล์มหลายชนิด  หมากผู้หมากเมีย  ชบา  เฟื่องฟ้า  หางนกยูง  ยี่โถ  กุหลาบ  เยอบีร่า  บานชื่น  ทานตะวัน  ไผ่ต่าง ๆ และไม้ยืนต้นทั่ว ๆไป  เช่น  ประดู่  ลั่นทม 

ราชพฤกษ์  ตะแบก  นนทรีย์   เข็มต่าง ๆ

  1. ไม้น้ำ  (Aquatic  plants)   พันธุ์ไม้น้ำนั้นก็มีทั้งพันธุ์ไม้ดอก เช่น  บัวต่าง ๆ  และพันธุ์ไม้ประดับพวกกกต่าง ๆ พันธุ์ไม้น้ำเหล่านี้ย่อมต้องการแสงสว่างไม่เหมือนกัน  แต่ตามธรรมชาติของมันแล้ว พันธุ์ไม้น้ำที่ต้องการแสงสว่างน้อยก็จะจมอยู่ใต้ผิวน้ำเช่น  พวกสันตะวา ใบพายและสาหร่าย 

พันธุ์ไม้น้ำหลายชนิดที่นิยมนำมาปลูกในบ่อน้ำในสวน  เพื่อตกแต่งสวนและบ่อน้ำให้น่าดูเหมือนธรรมชาติ

  1. การแบ่งพันธุ์ไม้ตามความมุ่งหมายที่จะใช้ประโยชน์

            เป็นการจำแนกโดยอาศัยความต้องการหรือจุดมุ่งหมายที่จะนำพืชนั้น ๆ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในด้านใด และใช้ส่วนไหนของพืช ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท  คือ

  1. ไม้ดอก  (Flowering  plants)  ความมุ่งหมายส่วนใหญ่ก็เพื่อต้องการใช้ดอกเป็นประโยชน์สำคัญ  ลักษณะทรงต้นและใบจะไม่คำนึงถึงมากนัก  ในการผลิตจึงมุ่งเน้นไปที่ดอก คือ  ให้ปริมาณดอกมาก  และคุณภาพของดอกต้องดีที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้  ซึ่งจะช่วยเพิ่มคุณค่าให้สูงขึ้นได้  และคุณภาพของดอกต้องดีที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้ ซึ่งอยู่ติดกับต้นไม้นิยมตัดดอก  ทั้งนี้อาจจะเนื่องจากลักษณะของดอก เช่น  มีความยาว ก้านดอกสั้น  กลีบดอกบาง  มีอายุการใช้งานไม่คงทนเมื่อดอกออกจากต้น  ส่วนมากจึงนิยมปลูกเป็นไม้กระถางหรือไม้จัดสวน  ปลูกเป็นแปลงประดับตกแต่งอาคารสถานที่ให้เกิดความสวยงาม  แต่อย่างไรก็ตามไม้ดอกบางชนิดก็มีคุณสมบัติเฉพาะที่ต่างออกไปเราจึงสามารถจำแนกไม้ดอกตามประโยชน์ใช้สอยได้เป็น

            1.1  ไม้ตัดดอก  (cut-flower  plants)  หมายถึงไม้ดอกที่ปลูกไว้เพื่อตัดดอกหรือช่อดอกมาใช้ประโยชน์ ไม้ดอกเหล่านี้ต้องมีคุณสมบัติเฉพาะหลายประการ  เช่น  รูปร่างลักษณะของดอก (form)  สวยงาม  สีสันเด่นสะดุดตา  ก้านดอก  มีความยาวและแข็งสามารถนำมาใช้ปักแจกันได้  กลีบดอกหนาทนทาน  มีอายุการใช้งานของดอกที่ยาวนาน  ไม่เหี่ยวแห้งง่าย  สามารถเก็บรักษาได้ง่าย  ทนทานต่อการขนส่ง  ต้นออกดอกเกือบตลอดทั้งปี   ปลูกเลี้ยงดูแลรักษาง่ายขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว

            1.2  ไม้ดอกกระถาง  (Flowering  pot  plants)  หมายถึงไม้ดอกที่มีขนาดของทรงต้นกะทัดรัด ไม่ใหญ่หรือเล็กเกินไป  เมื่อนำมาปลูกในกระถางสามารถแยกเคลื่อนย้ายได้สะดวกต้นออกดอก  และดอกมักจะบานพร้อม ๆกัน  ในปัจจุบันไม้ดอกกระถางได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ต้องการปลูกไม้ดอกแต่พื้นที่จำกัด  ทรงต้นของไม้ดอกกระถางอาจมีทั้งการเจริญเติบโตเป็นพุ่มตั้งตรง  หรือค่อนไปทางทอดเลื้อยห้อยย้อยลงด้านล่างก็ได้

            1.3  ไม้ดอกประดับแปลง  (bedding  plants)    หมายถึงไม้ดอกที่สามารถนำมาปลูกลงดินได้เป็นจำนวนมากเพื่อความสวยงามให้อาคารสถานที่  ไม้ดอกกลุ่มนี้มักมีลักษณะเด่นคือเป็นไม้ดอกที่สามารถขยายพันธุ์ได้ง่ายด้วยการเพาะเมล็ด  ไม่ต้องการดูแลรักษามากนักปลูกเลี้ยงง่าย โตเร็ว  เจริญเติบโตได้ดีในดินเกือบทุกประเภท  ดอกดกและมักจะบานพร้อมๆ กัน  หลังดอกบานแล้วต้นควรติดเมล็ด และเมล็ดเมื่อร่วงลงดินก็สามารถงอกเป็นต้นใหม่ได้

  1. ไม่ใบ  (foliage  plants) ความมุ่งหมายสำคัญก็เพื่อใช้ประโยชน์จากใบและทรงต้นทั้งนี้ต้นอาจจะมีสีสัน รูปร่างลักษณะของใบหรือทรงต้นที่สวยงามอย่างใดอย่างหนึ่งหรืออาจจะทั้งสองอย่าง  มักจะให้ความสนใจในเรื่องของดอกมากนัก ซึ่งไม้ใบบางชนิดอาจไม่เคยปรากฏดอกให้เห็นเลยก็ได้ 

ไม้ใบสามารถจำแนกตามประโยชน์ใช้สอยได้เป็น

            2.1  ไม้ตัดใบ (cut-leaf plants) หมายถึงไม้ใบที่มีลักษณะรูปร่างและสีสันของใบที่สวยงาม  มุ่งเน้นที่จะใช้ความงามของใบเป็นหลัก  โดยการตัดใบไปใช้ปักแจกันร่วมกับไม้ดอกอื่น ๆ

            2.2  ไม้ใบกระถาง  (foliage  pot  plants)  หมายถึงไม้ใบที่มีความสวยงามของทรงต้นและใบ

ที่เด่นสะดุดตา  เมื่อนำมาปลูกในกระถาง  สามารถยกเคลื่อนย้ายได้สะดวกโดยเฉพาะการนำต้นไม้มาประดับตกแต่งภายในอาคาร ปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่นิยมใช้ไม้ใบมากกว่าไม้ดอก  เนื่องจากมีลักษณะรูปร่าง และทรงต้นให้เลือกได้มากมายหลายชนิด และเมื่อต้นไม้ได้พักฟื้นแล้วก็สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีก  ดังนั้นไม้ใบประเภทนี้จึงต้องเป็นพืชที่ปลูกเลี้ยงและดูแลรักษาง่าย  ฟื้นตัวเร็ว ทนต่อการขนย้าย และการเจริญเติบโตได้ดีในที่ร่มหรือกลางแจ้ง ไม่ว่าจะเป็นพืชที่เจริญเติบโตในแนวตั้งหรือเลื้อยทอดยอดลง

            2.3 ไม้ใบประดับแปลง  ( bedding  plants  )  หมายถึงไม้ใบที่สามารถปลูกลงดินเป็นแปลงเพื่อใช้ประดับตกแต่งอาคารสถานที่ใช้ประโยชน์ในแง่การจัดสวนเป็นหลัก  ไม้ใบประเภทนี้ต้องสามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีปักชำแยกหน่อหรือกอและตอนกิ่งได้ง่าย  ต้นมีทรงพุ่มรูปร่างและสีสันของใบสวยงาม  สามารถนำมาปลูกประดับได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงดอก

            2.4  ไม้ดัดและไม้แคระ  (  miniature & bonsai )  หมายถึง  ไม้ใบหรือพันธุ์ไม้ที่ใช้ความสวยงามจากลักษณะรูปร่างของต้น  กิ่ง  ใบ  ดอกและผลเป็นสำคัญ  สำหรับไม้ดัดเป็นการบังคับให้ต้นพืชมีการเจริญเติบโตตามลักษณะต้องการซึ่งต้องมีการดูแลเป็นพิเศษ  ใช้ความอุตสาหะและระยะเวลาที่ยาวนาน  โดยปลูกลงดินหรือในกระถาง    ส่วนไม้แคระเป็นการย่อส่วนต้นไม้ให้มีขนาดเล็กลงแต่เลียนแบบธรรมชาติ  โดยนำมาปลูกในกระถางหรือภาชนะปลูกที่จำกัดขนาดเพื่อควบคุมให้ต้นแคระแกร็น  ไม้ดัดและไม้แคระมักมีอายุยืนนานและมีราคาสูงกว่าไม้ประดับประเภทอื่น  จึงถือเป็นไม้ประดับที่มีคุณค่าความงามในเชิงศิลปะ

  1. การแบ่งพันธุ์ไม้ตามช่วงความยาวแสง

พืชที่ให้ดอกให้ผลต้องการแสงในการสร้างผลผลิต  ช่วงความยาวของแสงต่อวันที่พืชได้รับ

มีอิทธิพลต่อการเกิดดอก  เราสามารถยับยั้งการเกิดดอก  เพื่อให้พืชมีการเจริญทางกิ่งก้านมากขึ้น หรือบังคับให้พืชออกดอกในช่วงเวลาที่ต้องการได้  จึงมีประโยชน์ในการผสมพันธุ์พืช  การแบ่งพันธุ์ไม้ตามช่วงความยาวแสสง  แบ่งออกเป็น  3  ประเภท

  1. พืชวันสั้น (short day plants)  หมายถึงพืชที่ต้องการช่วงของแสงสว่างในการออกดอก

แต่ละวันสั้นประมาณ  10  ชั่วโมงต่อวันหรือน้อยกว่านี้  เพื่อกระตุ้นให้เกิดตาดอกถ้าได้รับแสงต่อวันมากกว่านี้  พืชจะไม่ออกดอก  เช่น  เบญจมาศ  คริสต์มาส  เป็นต้น  ดังนั้นในช่วงฤดูร้อนที่มีช่วงวันยาวพืชเหล่านี้จะเจริญเติบโตทางลำต้น

  1. พืชวันยาว  (long day palnts)  หมายถึงพืชที่ต้องการช่วงแสงสว่างในแต่ละวัน  เพื่อการเกิดดอกและติดผล  ประมาณวันละ  14  ชั่วโมงหรือมากกว่านี้  ได้แก่ ดาวเรือง  บานชื่น  เป็นต้น 

พืชดังกล่าวถ้าได้รับแสงน้อยกว่านี้จะไม่ออกดอก  ดังนั้นในฤดูหนาวซึ่งมีช่วงวันสั้น  พืชประเภทนี้

จะเจริญเติบโตทางลำต้นและใบเท่านั้น

  1. พืชวันกลาง   (day neutrtal palnts) หมายถึงพืชที่ไม่ต้องอาศัยช่วงแสงในแต่ละวันใน

การออกดอก  สามารถเจริญเติบโตให้ดอกติดผลได้ไม่ว่าจะเป็นช่วงวันสั้นหรือช่วงวันยาว  กล่าวคือ

พืชเหล่านี้ถ้าครบกำหนดอายุการออกดอกก็ให้ดอกได้ไม่ว่าจะอยู่ในระยะช่วงแสงใด

  1. การแบ่งพันธุ์ไม้ตามลักษณะของต้น

เป็นการจำแนก  โดยพิจารณาลักษณะของลำต้น  การแตกกิ่งก้าน  และการเจริญเติบโตของ

ต้นเป็นสำคัญ  สามารถแบ่งได้เป็น

  1. ไม้ยืนต้น (tree)  หมายถึงพืชที่มีลำต้นเดี่ยว  เจริญเติบโตในแนวตั้งตรง  มีการแตกกิ่ง

ก้านอย่างอิสระโดยไม่ต้องยึดเกาะกับต้นไม้หรือวัสดุอื่น ๆ ต้นมีความสูงมากกว่า 6  เมตรส่วนมากมีอายุยืนนานและมีเนื้อไม้  อาจเป็นพวกเนื้อไม้อ่อนหรือไม้เนื้อแข็ง  ทรงต้นมีรูปร่างแตกต่างกันไป  มีทั้งสูงชะลูดหรือแตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกว้างซึ่งมีลักษณะเป็นพุ่มหรือมีดอกที่สวยงาม  บางชนิดอาจทิ้งใบหมดขณะที่ออกดอกหรือออกดอกพร้อมใบ  สวนใหญ่นิยมปลูกเป็นไม้ยืนต้นเพื่อให้ร่มเงา  ลดความร้อนและใช้ประโยชน์ประดับอาคารสถานที่

  1. ไม้พุ่ม (shrub) หมายถึงพืชที่มีลำต้นตั้งตรงเป็นอิสระโดยที่ไม่ต้องยึดเกาะกับต้นไม้

หรือวัสดุอื่น ๆ เพื่อช่วยในการเจริญเติบโต  มีอายุนานหลายปีและมีความสูงไม่มากนัก ต้นจะแตกกิ่งก้านในระดับต่ำ  ไม่สูงจากพื้นมากนัก ต้น จึงมีรูปทรงเป็นพุ่ม  สามารถตัดแต่งให้มีลักษณะตามที่ต้องการได้  นิยมปลูกไม้พุ่มประดับสถานที่หรือปลูกเป็นแนวรั้วได้

  1. ไม้เลื้อย (climber or vine) หมายถึงพืชที่มีลักษณะลำต้นที่ต้องอาศัยยึดพิงกับต้นไม้

 หรือวัสดุอื่น ๆ  ถ้าไม่มีสิ่งยึดเหนี่ยวต้นก็มักจะเลื้อยทอดไปตามพื้นดิน  ต้นไม้ประเภทนี้มักมีอวัยวะ

ยึดเกาะ  เช่น  มือเกาะ  หรือใช้ส่วนของเถาหรือลำต้นพันรอบ ๆ  สิ่งยึดเหนี่ยวเพื่อเจริญเติบโตต่อไป 

ต้นมักมีการเจริญเติบโตในแนวยาวมากกว่าเจริญออกทางด้านข้าง  ไม้เลื้อย  มีทั้งประเภทลำต้นมีเนื้อไม้

มีอายุนานหลายปี  ซึ่งจะเรียกว่า  “ไม้เถายืนต้น” (wood climber) และที่เป็นไม้เลื้อยล้มลุกที่เรียกว่า

“ไม้เถาล้มลุก” (herbaceous climber)

  1. ไม้หัว (ornamental bulb) หมายถึงพืชที่มีลำต้นอยู่ใต้ดิน  ลำต้นนั้นจะมีลักษณะเป็นหัว

หรือเป็นส่วนของก้านใบที่อัดติดกันแน่น  ไม้หัวโดยทั่วไปจะมีลักษณะเด่นที่สำคัญคือหัวจะมีลักษณะค่อนข้างอวบน้ำ  ทำหน้าที่สะสมอาหารส่วนของตาจะมีสิ่งปกคลุมช่วยป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น  สิ่งปกคลุมนั้นอาจมีลักษณะคล้ายขน  เป็นแผ่นเยื่อบาง ๆ  ต้นจะมีการพักตัวเมื่อสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต  ผู้ปลูกสามารถขุดหัวขึ้นมาจากดินเพื่อเก็บรักษาไว้ในช่วงระยะเวลาหนึ่งได้