บทอาขยาน กาพย์เห่เรือ ตอน เห่ชมเรือกระบวน เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ (เจ้าฟ้ากุ้ง)

หน่วยการเรียนรู้ที่ 1 กาพย์เห่เรือ?

กาพย์เห่เรือ พรรณนาถึงรูปลักษณ์สวยงามแปลกตา สมรรถนะของเรือพระที่นั่งและเรือลำต่างๆ กระบวนเห่เรือ ตลอดจนความสามัคคี พรักพร้อมของพลพายที่ร่วมกระบวน

หน่วยการเรียนรู้ที่ 2 การอ่านวินิจสาร?

การอ่านแปลความ ตีความและขยายความ เป็นการอ่านที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันการอ่านแปลความเป็นทักษะขั้นพื้นฐานของการอ่านตีความและการอ่านขยายความ ถ้าอ่านแปลความของเรื่องได้ก็จะนำไปสู่การตีความ สามารถอ่านขยายความ เป็นวิธีการอ่านที่ช่วยให้สามารถอ่านสารต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หน่วยการเรียนรู้ที่ 3 สามก๊ก ตอนกวนอูไปรับราชการกับโจโฉ?

สามก๊ก พงศาวดารจีนแต่งเป็นความเรียงร้อยแก้วแบบบรรยายโวหาร มีเนื้อหาเกี่ยวกับการปกครอง กลอุบาย การทำสงคราม ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสร ให้เป็น “ยอดแห่งความเรียงประเภทนิทาน”

หน่วยการเรียนรู้ที่ 4 การประเมินคุณค่างานเขียน?

การประเมินคุณค่าเรื่องสั้นและการประเมินคุณค่ากวีนิพนธ์ เป็นการศึกษาวิเคราะห์งานเขียนทั้งด้านแนวคิด การใช้ภาษา กลวิธีการแต่ง รวมถึงคุณค่าที่ได้รับจากงานเขียน เพื่อนำไปใช้ประเมินงานเขียนที่ได้อ่าน และนำไปใช้พัฒนางานของตนเอง

หน่วยการเรียนรู้ที่ 5 ความสัมพันธ์ระหว่างภาษากับความคิด?

มนุษย์แสดงความคิดออกมาได้โดยการกระทำ และโดยการใช้ภาษา โดยการกระทำ บางอย่างคนอื่นอาจไม่เข้าใจว่าผู้กระทำ มีความคิดอย่างไรจึงต้องมีการอธิบายด้วยจึงจะรู้ว่าผู้กระทำ มีความคิดอย่างไร ในขณะที่มนุษย์คิดอยู่นั้นย่อมใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในการคิดไปด้วย เมื่อมีโอกาสใช้ภาษาถ่ายทอดความคิดใดๆ ออกมาเป็นถ้อยคำ เพื่อสื่อสารกับคนอื่นความคิดของคนนั้นก็จะพัฒนายิ่งขึ้นไปด้วย

หน่วยการเรียนรู้ที่ 6 ไตรภูมิพระร่วง ตอนมนุสสภูมิ?

ไตรภูมิพระร่วงเป็นวรรณคดีเก่าแก่ที่แต่งขึ้นตั้งแต่สมัยสุโขทัย เรื่องราวเกี่ยวกับความแปรเปลี่ยนและความไม่แน่นอนของสิ่งต่างๆ ในโลกนี้
สามก๊ก ตอนกวนอูไปรับราชการกับโจโฉ

สามก๊ก ตอนกวนอูไปรับราชการกับโจโฉ

ผู้แต่ง : เจ้าพระยาพระคลัง (หน) อำนวยการแปล

ลักษณะคำประพันธ์ : ร้อยแก้ว ประเภท ความเรียงเรื่องนิทาน

จุดประสงค์ในการแต่ง : เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับอุบายการเมืองและการสงคราม

ประวัติผู้แต่ง : เจ้าพระยาพระคลัง (หน) เกิดในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ และถึงอสัญกรรมเมื่อปี พ.ศ.2348 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้า กรุงธนบุรี ได้รับราชการเป็นหลวงสรวิชิต ในสมัยรัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นพระยาพิพัฒน์โกษาและเป็นเจ้าพระยาพระคลัง เจ้าพระยาพระคลัง (หน) มีความสามารถด้านการประพันธ์ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองงานประพันธ์ ที่สำคัญ ได้แก่ ราชาธิราช สามก๊ก ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก (กัณฑ์กุมารและกัณฑ์มัทรี) บทมโหรีเรื่องกากี ลิลิตเพชรมงกุฎ และอิเหนาคำฉันท์

ที่มาของเรื่อง : 
     จดหมายเหตุเรื่อง สามก๊ก เรียกว่า “สามก๊กจี่” ตันซิ่ว เป็นผู้บันทึก ในสมัยราชวงศ์จิ้น (ปลายพุทธศตวรรษที่ 9) แบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 เรื่อง คือ จดหมายเหตุก๊กวุ่ย (วุ่ยก๊ก) จดหมายเหตุก๊กจ๊ก (จ๊กก๊ก) จดหมายเหตุก๊กง่อ (ง่อก๊ก)

     ต่อมาในต้นราชวงศ์เหม็ง (ต้นพุทธศตวรรษที่ 21) หลอกว้านจง (ล่อกวนตง) ได้นำเอาจดหมายเหตุของตัวซิ่ว มาแต่งให้สนุกสนาน เรียกว่า “สามก๊กจี่ทงซกเอี้ยนหงี” หมายความว่า จดหมายเหตุสามก๊กสำหรับ สามัญชน เริ่มเหตุการณ์ตั้งแต่รัชกาล พระเจ้าเลนเต้ ไปจนถึงรัชกาล พระเจ้าจิ้นบู๊เต้สุมาเอี๋ยน

     พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระราชดำรัสสั่งให้แปลพงศาวดารจีนเป็นภาษาไทย 2 เรื่อง คือ ไซ่ฮั่น และสามก๊ก (พ.ศ.2345) เดิมเป็นหนังสือจำนวน 95 เล่มสมุดไทย เมื่อนำมาพิมพ์มีจำนวน 4 เล่ม สมุดฝรั่ง สำนวนที่นำมาพิมพ์ครั้งแรกที่โรงพิมพ์หมอบรัดเลย์ มิชชันนารีอเมริกัน เป็นสำนวนที่ได้สอบกับต้นฉบับของ สมเด็จเจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์ และพิมพ์ออกจำหน่ายเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2408 ในสมัย รัชกาลที่ 4

สาระสำคัญของเรื่อง :
     โจโฉปรึกษาราชการทัพกับเทียหยก เรื่องยกทัพไปรบกับเล่าปี่ ที่เมืองซีจิ๋ว แต่กลัวว่า อ้วนเสียว จะตีเมือง ฮูโต๋ กุยแกเห็นว่าควรจัดทัพไปตีเมืองซีจิ๋วก่อน ซุนเซียนนำข่าวไปแจ้งกวนอูที่เมืองแห้ฝือ แจ้งแก่ เล่าปี่ที่เมืองเสียวพ่าย เล่าปี่ขอความช่วยเหลือจากอ้วนเสี้ยวแต่ไม่สำเร็จ

     เตียวหุยยกกองทหารออกมาปล้นค่ายโจโฉถูกกลศึกพ่ายแพ้ เล่าปี่เข้าไปขอความช่วยเหลือจากอ้วนเสี้ยว ที่เมืองกิจิ๋ว โจโฉเข้าตีเอาเมืองเสียพ่ายได้และยกกองทัพไปตีเมืองซีจิ๋ว กวนอูมีฝีมือกล้าหาญชำนาญ ในการสงครามโจโฉอยากชุบเลี้ยงไว้เป็นกำลังทัพ

     เตียวเลี้ยวอาสาไปเกลี้ยกล่อม ในที่สุดกวนอูจำเป็นต้องยอมไปอยู่กับโจโฉ โดยมีข้อเสนอ 3 ข้อ คือ

  1. ขอเป็นข้าพระเจ้าเหี้ยนเต้ 
  2. ขอพระราชทานเบี้ยหวัดของเล่าปี่ แก่ภรรยาของเล่าปี่ทั้งสองคน (นางเกาฮุหยินและนางบิฮูหยิน) ห้ามผู้ใดเข้าออกถึงประตูที่อยู่ได้ 
  3. ถ้าพบเล่าปี่ ก็จะกลับไปอยู่กับเล่าปี่ เพราะสาบานเป็นพี่น้องกัน

     กวนอูเป็นผู้มีความซื่อสัตย์กตัญญู ถ้ายังไม่ได้ทดแทนคุณโจโฉ ก็จะต้องอยู่กับโจโฉต่อไป

ความรู้ประกอบเรื่อง :

  1.      เรื่องสามก๊กเป็นเรื่องที่แผ่นดินจีนแบ่งออกเป็น สามก๊กใหญ่ๆ นับตั้งแต่สมัยพระเจ้าเลนเต้กษัตริย์ราชวงศ์ฮั่น ครองราชย์สมบัติ เมื่อ พ.ศ.711 พระเจ้าเลนเต้เป็นกษัตริย์ที่ปกครองบ้านเมืองด้วยความอ่อนแอ บ้านเมืองเกิดวิกฤตจลาจล ต่อมาราชสมบัติตกอยู่กับพระเจ้าเหี้ยนเต้ราชบุตร มีตั๋งโต๊ะและต่อมาโจโฉเป็นเซียงก๊ก เป็นมหาอุปราชดูแลการงานของแผ่นดิน เล่าปี่เชื้อสายราชวงศ์ฮั่น ครองแคว้นเสฉวน มีขงเบ้งเป็นที่ปรึกษา ซุนกวนอยู่เมืองกังตั๋งหัวเมืองทางทิศตะวันออก แผ่นดินจีนจึงแยกเป็นสามก๊กดังนี้
    • โจโฉ มีลูกคือ โจผี ราชวงศ์วุ่ย (วุ่ยก๊ก) อยู่เมืองหลวง
    • เล่าปี่ มีลูกคือ อาเต๊า ราชวงศ์ฮั่น (จ๊กก๊ก) อยู่เมืองเสฉวน
    • ซุนกวน ราชวงศ์ง่อ (ง่อก๊ก) อยู่เมืองวังตั๋ง
  2.      เรื่องสามก๊กเป็นวรรณกรรมประเภทนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ คือมีเค้าเรื่องเดิมมาจากเหตุการณ์ และตัวละครที่มีชีวิตจริงในประวัติศาสตร์ แล้วมีการแต่งเติมให้พิสดารขึ้น ในที่สุดมีนักเขียนฝีมือดี เรียบเรียง ให้เป็นวรรณกรรมที่สำนวนภาษาดี จึงมีคนติดใจแล้วแพร่หลายกันไปในหมู่นักอ่าน
  3.      หนังสือเรื่องสามก๊ก นักวรรณคดีไทยถือเป็นคู่กันกับหนังสือราชาธิราช แต่ผิดกันที่เรื่องสามก๊กนั้น ชนชาวจีนรับว่าเป็นเรื่องแต่ง แต่เรื่องราชาธิราช ชาวรามัญถือว่าเป็นพงศาวดารมอญ หนังสือสองเรื่องนี้ มีคุณสมบัติเหมือนกันคือ เป็นหนังสือที่มีสำนวนร้อยแก้วดีเสมอกัน คือ ดีในทางบรรยายและในการดำเนินเรื่อง การผูกบทสนทนา กลอุบายในการทำศึกทำให้เนื้อเรื่องสนุกสนานชวนติดตาม
  4.      สำนวนร้อยแก้วของหนังสือเรื่องสามก๊กและเรื่องราชาธิราช ได้มีผู้ถือเป็นแบบฉบับในการเรียบเรียงแปลจากนิยายจีนต่อมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 7 ต่อมาจึงมีผู้แปลเปลี่ยนสำนวนไปดังที่เห็นในปัจจุบัน
  5.      ศิลปะในการประพันธ์เรื่องสามก๊กอยู่ที่การดำเนินเรื่องให้ผู้อ่านตื่นเต้นไปกับเหตุการณ์อีกทั้งวิธีแสดงถึงลักษณะตัวละคร ใช้ถ้อยคำที่กล่าวถึงพฤติกรรมของตัวละคร ภาษาที่ใช้ สั้น กะทัดรัด เข้าใจง่าย แฝงคติธรรม ในการดำเนินชีวิต
  6.      คุณสมบัติของกวนอู คือ คุณสมบัติของนักรบ ความซื่อตรง การรักษาความสัตย์และมีความกตัญญู
  7.      วรรณคดีสโมสรในสมัยระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยกย่องให้เรื่องสามก๊กเป็นยอดของความเรียงนิทาน

ข้อคิดที่ได้รับ :

  1. การอ่านนิยายที่เป็นวรรณคดีมรดก จุดประสงค์สำคัญคือให้เห็นค่านิยมของบรรพบุรุษว่ามีแนวคิด ในเรื่องต่างๆอย่างไร เช่น ความประพฤติของตัวละคร เหมาะสมหรือไม่
  2. ความกตัญญู รักษาความสัตย์ และมีความซื่อตรง เป็นคุณธรรมที่สมควรได้รับการยกย่อง และนำมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต
  3. การอ่านวรรณกรรมที่ดีจะช่วยยกระดับและพัฒนาจิตใจให้ดีงามไปด้วย

ลักษณะภาษาอันเป็นคำคมที่ควรคิด :

 “แลเรื่องราวสามก๊กนี้เป็นธรรมดา แผ่นดินมีความสุขก็นานแล้ว ก็ได้เดือดร้อนแล้วก็มีความสุขเล่า แลกระจายกันออกเป็นแว่นแคว้นแดนประเทศของตัวแล้วก็กลับรวมเข้า แยกออกเป็นสามก๊ก แล้วก็รวมเข้าเป็นก๊กเดียวกัน ชื่อว่า เมืองไต้จีน”

     “ซึ่งข้าพเจ้ามาหาท่านแต่ผู้เดียวนี้มีความอัปยศแก่คนทั้งปวงเป็นอันมาก ครั้งนี้ข้าพเจ้าจะกินน้ำสบถอยู่ทำการด้วยท่านกว่าจะสำเร็จ อ้วนเสี้ยวได้ฟังดังนั้นก็มีความยินดี จึงจัดแจงเครื่องอุปโภคและเครื่องบริโภคให้เป็นอันมาก ทำนุบำรุงเล่าปี่ไว้ในเมืองกิจิ๋ว”

     “ถึงมาตรว่าท่านจะได้ความลำบากก็อุปมาเหมือนหนึ่งลุยเพลิงอันลุกแลข้ามพระมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ ก็จะลือชาปรากฏชื่อเสียงท่านไปภายหน้า ว่าเป็นชาติทหารมีใจสัตย์ซื่อกตัญญูต่อแผ่นดิน”

 หัวหน้าก๊กสำคัญในเรื่องสามก๊ก :

  1. โจโฉ เดิมรับราชการเป็นทหาร เคยรบชนะโจรโพกผ้าเหลือง ครั้งหนึ่งตั๋งโต๊ะกำเริบมากถึงกับ ถอดพระเจ้าเลนเต้แล้วตั้งตนเป็นอัครเสนาบดี ประพฤติตนชั่วช้าเลวทราม โจโฉก็เลยอาสาเอากระบี่ซ่อนจะไปฆ่า แต่ทำไม่สำเร็จต้องหนี ตั๋งโต๊ะนั้นภายหลังถูกอ้องอุ้นกำจัดได้ โดยยกนางเตียวเสี้ยนให้ลิโป้ทหารเอกของ ตั๋งโต๊ะแล้วทำกลให้ตั๋งโต๊ะผิดใจกับลิโป้เรื่องเมีย ลิโป้เลยฆ่าตั๋งโต๊ะเสีย ลิฉุย กุยกี พวกของตั๋งโต๊ะจะฆ่าอ้องอุ้น และบังคับ พระเจ้าเหี้ยนเต้ให้ตั้งพวกตนให้เป็นใหญ่ พระเจ้าเหี้ยนเต้ต้องเสด็จหนี โจโฉได้ปราบลิฉุยกับกิกุย ได้ เลยได้เป็นเสนาบดีทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนปกครองเด็ดขาด จนคนเกลียดหัวเมืองกระด้างกระเดื่อง รบกัน ปราบกันอยู่นาน โจโฉปราบหัวเมืองต่างๆได้เป็นอันมาก แต่ที่ปราบไม่สำเร็จคือ ก๊กของซุนกวน กับก๊กเล่าปี่
  2. ซุนกวน เป็นเจ้าเมืองกังตั๋ง มีเมืองเล็กเมืองน้อยขึ้นอยู่มาก เป็นคนอยู่ในศีลธรรมซื่อตรง ปกครองประชาชนด้วยความยุติธรรม จึงมีสมัครพรรคพวกมากขึ้นตามลำดับ ก๊กซุนกวน เรียกว่า ง่อก๊ก
  3. เล่าปี่ เคยเป็นคนยากจนมาก่อน มีอาชีพทอเสื่อขายแต่มีเลือดเนื้อเชื้อไขของราชวงศ์ฮั่น นิสัยดี น้ำใจอารี นอบน้อมถ่อมตน มีคนรักใคร่มาก เมื่อปราบโจรโพกผ้าเหลืองมีคนดีหลายคนมาเป็นพวก ได้แก่ กวนอู เตียวหุย จูล่ง เล่าปี่ทำศึกชนะบ่อยครั้ง แต่ก็ไม่สามารถครองเมืองได้ถาวร ต้องเสียเมืองเสมอ ภายหลังได้ขงเบ้งมาเป็นที่ปรึกษา จึงได้ตั้งตัวเป็นมั่นคงได้ที่เมือง เสฉวน ก๊กเล่าปี่เรียกว่า จ๊กก๊ก

     เหตุการณ์เปลี่ยนไปเมื่อโจโฉตาย โจผีตาย โจยอยผู้โอรส ขึ้นครองราชย์สมบัติ ทั้งสามก๊กต่อสู้รบกัน เรื่อยมา สุมาเจียวอุปราชวุยก๊กได้ปราบก๊กเล่าเสี้ยน(บุตรเล่าปี่) หรือจ๊กก๊ก

     ต่อมา สุมาเอี๋ยน (บุตรสุมาเจียว) ถอดพระเจ้าโจฮวน ตั้งตนเป็นฮ่องเต้แห่งราชวงศ์จิ้น ได้ปราบง่อก๊ก คือ ก๊กซุนกวนได้ สามก๊กจึงเป็นก๊กเดียวกัน นับว่าได้ทำสงครามต่อเนื่องนานถึง 111 ปี จึงจะสามารถรวมประเทศจีนได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ความแพร่หลาย :
     เรื่องสามก๊กนี้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เพราะมีผู้แปลเป็นภาษาต่างๆ มากมาย

  1. ภาษาญี่ปุ่น พ.ศ.2235
  2. ภาษาเกาหลี พ.ศ.2402
  3. ภาษาญวน (เวียดนาม) พ.ศ.2452
  4. ภาษาเขมร ไม่ทราบ พ.ศ.
  5. ภาษามลายู พ.ศ.2435
  6. ภาษาละติน ไม่ทราบ พ.ศ.
  7. ภาษาสเปน พ.ศ.2373
  8. ภาษาฝรั่งเศส พ.ศ.2388
  9. ภาษาอังกฤษ พ.ศ.2469
  10. ภาษาไทย พ.ศ.2345

 คุณค่าของหนังสือเรื่องสามก๊ก :
     1. ให้ความรู้เกี่ยวกับตำราพิชัยสงคราม ซึ่งมีค่าทางด้านยุทธวิธีในการสงครามให้ความรู้เกี่ยวกับปรัชญาคติธรรมในการดำรงชีวิต ทำให้ผู้อ่านฝึกฝนสติปัญญาความสามารถของตนให้เฉลียวฉลาด และนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี เช่น ความซื่อสัตย์ต่อตนเอง ต่อเพื่อน ต่อประเทศชาติ ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนตามที่ได้รับมอบหมาย เช่น
     “คำโบราณกล่าวไว้ว่า ธรรมดาอุปมาเหมือนอย่างเสื้อผ้าขาดแลหายแล้วหาใหม่ได้ พี่น้องเหมือนแขนซ้ายขวา ขาดแล้วยากที่จะต่อได้”
     “ธรรมดาเกิดมาเป็นมนุษย์ อันโรคและความตายจะกำหนดวันมิได้”
     “ยาดีกินขมปากแต่เป็นประโยชน์แก่คนไข้ คนซื่อกล่าวคำไม่เพราะหูแต่เป็นประโยชน์แก่กาลภายหน้า”

     2. มีสำนวนเฉพาะตัว นับว่าเป็นศิลปะในการแปลวรรณกรรมจากภาษาจีนที่เป็นตัวอย่างของการเขียนร้อยแก้วที่ดี ภาษาโบราณแต่ไม่ล้าสมัย เข้าใจได้จนถึงปัจจุบัน ภาษาง่าย กะทัดรัด สื่อความหมาย ความรู้สึก อารมณ์ความคิดได้ชัดเจน เช่น

     “อ้องอุ้นจึงว่าวันนี้แผ่นดินร้อนทุกเส้นหญ้าเจ้าก็ย่อมแจ้งอยู่แล้ว พระเจ้าเหี้ยนเต้นั้นอุปมาดังฟองไก่ อันวางอยู่หน้าศิลา ขุนนางกับอาณาประชาราษฎร์นั้นอุปมาดังหยากเยื่ออันใกล้กองเพลิงมิได้รู้ว่าความหมาย จะมาถึงเมื่อใด”

     3. มีอิทธิพลสำหรับวรรณคดียุคหลังๆทำให้เกิดสามก๊กมีหลายสำนวน ได้แก่

    1. สามก๊กฉบับวณิพก ของยาขอบ
    2. สามก๊กฉบับโจโฉนายกตลอดกาล ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
    3. สามก๊กฉบับร้านกาแฟ ของ นายหนหวย
    4. สามก๊กฉบับปริทัศน์ ของ เธียรชัย เอี่ยมวรเมธ
    5. อินไซด์สามก๊ก ของ อ.ร.ด.
    6. สามก๊กฉบับการ์ตูน สำหรับเยาวชน

     4. สามก๊กมีอิทธิพลต่อความคิดและจินตนาการของสุนทรภู่ เช่น ในเรื่องพระอภัยมณี นางวาลีมีความ เฉลียวฉลาดวาจาคมคายเหมือนขงเบ้ง อุศเรนมี จุดจบ คือ กระอักโลหิต เหมือนจิวยี่

     5. นำมาแสดงละครนอกเป็นตอนๆ เช่นอ้องอุ้นกำจัดตั๋งโต๊ะ ตอนจิวยี่กระอักโลหิต หลวงพัฒนพงศ์ภักดี (ทิม สุขยางค์) เป็นผู้นำมาแต่งและแสดงเป็นบทละครนอก และเป็นที่นิยมเป็นอย่างยิ่ง

 

ไฟล์แนบ

สามก๊ก.pdf 1.43 MB