แบบทดสอบก่อนเรียนรายวิชา I20201 การศึกษาค้นคว้าและสร้างองค์ความรู้

เนื้อหาน่ารู้

หน่วยการเรียนรู้ที่ 1 ประเด็นที่ฉันสนใจ

แบบทดสอบหลังเรียนรายวิชา I20201 การศึกษาค้นคว้าและสร้างองค์ความรู้

แบบประเมินความคิดเห็น

การตั้งสมมุติฐาน

การตั้งสมมุติฐาน

         ข้อคิดเห็น หรือถ้อยแถลงที่ใช้เป็นมูลฐานแห่งการหาเหตุผล การทดลอง หรือการวิจัย เรียกว่า สมมุติฐาน (ราชบัณฑิตยสถาน. 2546 : 1127) ซึ่งเป็นวิธีการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์โดยการเริ่มต้นจากการตั้งประเด็นปัญหา จากนั้นจะศึกษาค้นคว้า รวบรวมข้อมูลเพื่อคาดคะเนคำตอบของปัญหานั้น สมมุติฐาน ต้องสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของการศึกษาค้นคว้า

สมมุติฐานการศึกษาค้นคว้า เป็นคำตอบสรุปของผลการศึกษาที่ผู้ศึกษาค้นคว้าคาดคะเน หรือพยากรณ์ไว้ล่วงหน้าก่อนการเก็บรวบรวมข้อมูล คำตอบดังกล่าวได้มาจากการไตร่ตรองโดยใช้เหตุผลที่น่าจะเป็นให้มากที่สุด โดยมีรากฐานของทฤษฏี ผลการศึกษาค้นคว้า หรือผลการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น (บุญชม ศรีสะอาด. 2545 : 34) ซึ่งผู้ศึกษาค้นคว้ามั่นใจว่าผลการศึกษาค้นคว้าจะตรงกับสมมุติฐานที่ตั้งไว้ แต่ผลการศึกษาค้นคว้าจริงอาจจะตรง หรือไม่ตรงกับสมมุติฐานก็ได้ สิ่งสำคัญ คือ ผู้ศึกษาค้นคว้าต้องอธิบายได้ว่าผลการศึกษาค้นคว้าเป็นเช่นนั้นเพราะเหตุใด สมมุติฐานแบ่งได้ 2 ประเภทดังนี้ (จรัญ จันทลักขณา และกษิดิศ  อื้อเชี่ยวชาญกุล. 2551 : 38)

  1. สมมุติฐานทางสถิติ กำหนดขึ้นก่อนการทดลอง เป็นสมมุติฐานที่กำหนดเมื่อไม่รู้ว่า “มี” ให้กำหนดในเบื้องต้นว่า “ไม่มี” เช่น ไม่มีความแตกต่าง ไม่มีความสัมพันธ์ เป็นต้น
  2. สมมุติฐานทางเลือก ในการศึกษาค้นคว้าให้ตั้งสมมุติฐานทางเลือกเพื่อใช้เป็นทางเลือกในการสรุปผล ถ้าหากผลการทดสอบทางสถิติชี้ว่า “ไม่จริง” แล้ว “ยอมรับ” เช่น มีความแตกต่าง มีความสัมพันธ์ เป็นต้น

ประโยชน์ของสมมุติฐาน

  1. ใช้ตรวจสอบผลการศึกษาค้นคว้าได้
  2. จำกัดขอบเขตการศึกษาค้นคว้าให้ดำเนินไปตามวัตถุประสงค์
  3. ช่วยให้เข้าใจเรื่องที่ศึกษาค้นคว้าได้ชัดเจน

หลักการเขียนสมมุติฐาน

       สมมุติฐานที่ดีควรมีลักษณะดังนี้

  1. จุดมุ่งหมาย สอดคล้องกับสมมุติฐาน และผลของการศึกษาค้นคว้า
  2. สามารถทดสอบได้ด้วยข้อมูล หลักฐานต่าง ๆ
  3. ใช้ภาษาชัดเจน เข้าใจง่าย และรัดกุม
  4. สมเหตุสมผล โดยตั้งมาจากหลักของเหตุผล ตามทฤษฏี และผลการศึกษาค้นคว้า ที่ผู้ศึกษาค้นคว้ามา

หลักการเขียนสมมุติฐาน

  1. ใช้ข้อความที่เฉพาะเจาะจง กะทัดรัด ชัดเจน สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของการศึกษาค้นคว้า
  2. เขียนสมมุติฐานหลังจากได้ศึกษาค้นคว้าจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง ครบถ้วนแล้ว
  3. โดยทั่วไปจะตั้งสมมุติฐานก่อนการเก็บรวบรวมข้อมูล แต่มีการศึกษาค้นคว้า บางประเภท เช่น การศึกษาค้นคว้าเชิงคุณลักษณะ หรือเชิงคุณภาพ อาจไม่จำเป็นต้องตั้งสมมุติฐานก่อน แต่อาจเริ่มจากการสังเกต รวบรวมข้อมูล แล้วตั้งสมมุติฐานจากข้อมูลที่ค้นพบก็ได้
  4. เขียนสมมุติฐานที่สามารถทดสอบได้จากข้อมูลที่ได้รวบรวมมา
  5. กรณีมีหลายประเด็นควรแยกสมมุติฐานออกเป็นรายข้อ ซึ่งในการศึกษาค้นคว้าครั้งนั้นจะทำการทดสอบเป็นรายข้อ

ตัวอย่างสมมุติฐาน

  1. นักเรียนที่ดื่มนมจะเติบโตมากกว่านักเรียนที่ไม่ได้ดื่มนม (จรัญ จันทลักขณา และกษิดิษ อื้อเชี่ยวชาญกุล. 2551 : 39)
  2. เกษตรกรที่รวมกลุ่ม มีความเข้มแข็งทางสังคม และเศรษฐกิจ มากกว่าเกษตรกร ที่ไม่รวมกลุ่ม (จรัญ จันทลักขณา และกษิดิษ อื้อเชี่ยวชาญกุล. 2551 : 36)
  3. ผลการเรียนมีความสัมพันธ์กับแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ (บุญชม ศรีสะอาด. 2545 : 37)
  4. หลังจากใช้โปรแกรมค่ายโรงเรียนเพื่อสร้างสัมพันธภาพ นักเรียนกลุ่มทดลองปรับตัวเข้ากับเพื่อนได้ สูงกว่าก่อนการทดลอง (วาสนา ฤทธิสิทธิ์. 2552 : 63)