หน่วยการเรียนรู้ที่ 1 มาตราส่วน ทิศ และสัญลักษณ์ในแผนที่

หน่วยการเรียนรู้ที่ 2 ทวีปยุโรป

หน่วยการเรียนรู้ที่ 3 ทวีปแอฟริกา?

ภูมิศาสตร์ทวีปแอฟริกา

หน่วยการเรียนรู้ที่ 4 ภัยพิบัติและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ?

ภัยพิบัติและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในทวีปยุโรปและทวีปแอฟริกา
ภัยพิบัติและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ

1. ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในทวีปยุโรปและแอฟริกา
   1.1 ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในทวีปยุโรป
       1. ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า ในทวีปยุโรปเหลือพื้นที่ป่าไม้อยู่น้อยมาก ส่วนใหญ่ตัดเพื่อการค้า การเกษตรกรรม เป็นเขตที่อยู่อาศัย แหล่งอุตสาหกรรม และสร้างเส้นทางคมนาคม

          ผลกระทบที่เกิดจากการตัดไม้ทำลายป่าในทวีปยุโรป
          เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ เกิดการไหลบ่าของน้ำฝนที่ตกลงบนเทือกเขาแอร์ซ ทำให้น้ำในแม่น้ำเอ่อล้นเข้าท่วมอาคารบ้านเรือน และสถานที่สำคัญต่าง ๆ สร้างความเสียหายอย่างมากมาย
       2. ปัญหามลพิษทางอากาศ โรงงานอุตสาหกรรมมีการนำพื้นที่ป่ามาตั้งโรงงานและนำป่าไม้มาเป็นวัตถุดิบในการผลิต ทำให้เกิดควันพิษ
          ผลกระทบจากปัญหามลพิษทางอากาศในทวีปยุโรป
          ปริมาณสารพิษและควันพิษในอากาศจากโรงงานและรถยนต์ ทำให้เยาวชนที่อยู่ทางเหนือของสาธารณรัฐเช็กต้องย้ายที่อยู่อาศัย เพื่อรักษาสุขภาพ อีกทั้งยังส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืชอีกด้วย
       3. ปัญหาฝนเป็นพิษ หรือฝนกรด (acid rain) เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลทำให้เกิดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ เมื่อเข้าไปผสมกับไอน้ำในชั้นบรรยากาศ จะกลายเป็นฝนกรด ซึ่งทำให้พืชมีใบเหลืองตาย
          ผลกระทบจากปัญหาฝนเป็นพิษในทวีปยุโรป
          ฝนกรดเป็นอันตรายต่อชีวิตมนุษย์ สัตว์ และพืช และยังทำลายสิ่งก่อสร้างทางประวัติศาสตร์ของประเทศให้ได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ทะเลสาบหลายแห่งเป็นพิษจากสารพิษในชั้นน้ำแข็ง

 

       4. ปัญหาภาวะโลกร้อน เนื่องจากมีการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นทวีปที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกถึงร้อยละ 28 ของทั้งโลก ใน ค.ศ. 2007
          ผลกระทบจากปัญหาภาวะโลกร้อนในทวีปยุโรป
          ปัญหาภาวะโลกร้อน ส่งผลต่อทวีปยุโรปดังนี้
             1) คลื่นความร้อนในทวีปยุโรป
             2) น้ำแข็งบนเทือกเขาละลาย
             3) การพังทลายของพื้นที่ชายฝั่งทะเล
       5. ปัญหามลพิษทางน้ำ มีสาเหตุมาจากการทิ้งขยะมูลฝอย ความเจริญของอุตสาหกรรม การเพิ่มขึ้นของประชากร และการปล่อยสารเคมีปนเปื้อนลงในแหล่งน้ำ
          ผลกระทบจากปัญหามลพิษทางน้ำในทวีปยุโรป
          ในประเทศอิตาลี กรีซ สเปน ฝรั่งเศส มีแนวชายหาดสกปรก และปนเปื้อนด้วยขยะและสารพิษ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศชายฝั่ง สัตว์น้ำสูญพันธุ์ และส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน
          แม่น้ำที่ไหลออกสู่ทะเลเหนือ มีสารพิษปนเปื้อน ทำให้ทะเลเหนือมีสภาพเป็นพิษสูงขึ้น
          ในประเทศสาธารณรัฐเช็กมีแหล่งน้ำมากกว่าร้อยละ 30 ของพื้นที่แหล่งน้ำทั้งหมดที่สัตว์น้ำไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ ทะเลสาบบอลอโตน ในยุโรปกลางได้รับสารพิษจากน้ำเสียที่ปล่อยมาจากโรงงานอุตสาหกรรม และซึมลงไปในดิน ทำให้ประชากรขาดแคลนน้ำสะอาดใช้
       6. ปัญหาพลังงานขาดแคลน การเพิ่มขึ้นของประชากรอย่างต่อเนื่อง และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ทำให้ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้น
          ผลกระทบจากปัญหาพลังงานขาดแคลน
          เมื่อความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นจึงมีการนำเข้าเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับราคาของพลังงานเชื้อเพลิงในตลาดโลกมีราคาสูงขึ้น จึงส่งผลต่อค่าครองชีพของประชากร

   1.2 ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในทวีปแอฟริกา
   ทวีปแอฟริกามีสภาพภูมิอากาศแบบทุ่งหญ้าสะวันนาและทุ่งหญ้ากึ่งทะเลทรายในหลายพื้นที่ ประชากรส่วนใหญ่เลี้ยงสัตว์แบบร่อนเร่ ปริมาณฝนไม่เพียงพอ มีการทำการเกษตรที่ผิดวิธี ทำให้ดินเสื่อมสภาพ ประชาชนจึงเข้ามาใช้พื้นที่ป่าไม้ทำเกษตรกรรม และมีการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาภาวะโลกร้อน และปัญหาอื่น ๆ
       ผลกระทบจากปัญหาภาวะโลกร้อนและการตัดไม้ทำลายป่าในทวีปแอฟริกา
          1. ภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำ
          2. การขยายตัวของพื้นที่ทะเลทราย
          3. ภาวะน้ำท่วมฉับพลัน
          4. หิมะละลาย
          5. ชายฝั่งทะเลถูกกัดเซาะ

2.สิ่งแวดล้อมใหม่ทางสังคมของทวีปยุโรปและแอฟริกา
   2.1 สิ่งแวดล้อมใหม่ทางสังคมในทวีปยุโรป
   ทวีปยุโรปมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ดังนี้
       1. ระบบการเกษตรชีวภาพ เป็นการทำการเกษตรอินทรีย์ พืชที่เพาะปลูกส่วนใหญ่ดัดแปลงพันธุกรรม (GMO) การเกษตรแบบชีวภาพช่วยทำให้สภาพดินมีประสิทธิภาพและมีความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรและผู้บริโภคได้รับสารเคมีจากพืชลดลง
       2. ลัทธิบริโภคนิยมลดลง ในภาคอุตสาหกรรมน้ำดื่ม มีการหันมาใช้วัสดุผลิตขวดน้ำที่ย่อยสลายง่าย เพื่อให้ผู้บริโภคใส่ใจในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันความนิยมในการใช้วัสดุสิ้นเปลืองและย่อยสลายยากได้ลดลงมาก
       3. ระบบเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน สหภาพยุโรปได้วางนโยบายจำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยกำหนดระบบภาษีพลังงาน และภาษีคาร์บอน (Carbon tax) เพื่อให้ประเทศอุตสาหกรรมลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และใช้พลังงานเชื้อเพลิงให้น้อยลง
   2.2 สิ่งแวดล้อมใหม่ทางสังคมในทวีปแอฟริกา
   สิ่งแวดล้อมใหม่ทางสังคมในทวีปแอฟริกามีการเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เป็นภัยแล้ง
       1. เขื่อนอัสวาน การสร้างเขื่อนทำให้เกิดทะเลสาบนัสเซอร์ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญ แต่ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมีและยากำจัดศัตรูพืชมากขึ้น เพราะดินตะกอนที่อุดมสมบูรณ์ถูกแม่นํ้าไนล์พัดพามาทับถมลดลง ส่งผลให้เกิดมลพิษในดินและน้ำ
       2. การเกษตรเพื่อความอยู่รอด มีการนำเทคโนโลยีชีวภาพมาดัดแปลงพันธุกรรมข้าวให้ทนต่อความแห้งแล้งและดินเค็ม และมีการนำระบบวนเกษตรเข้ามาช่วยธัญพืช
       3. การอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ ประชากรในทวีปแอฟริกามีความพยายามที่จะอยู่กับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มีการนำนักเรียนออกไปศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อม เพื่อปลูกฝังให้มีความรักและหวงแหนสิ่งแวดล้อม
3. แนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในทวีปยุโรปและแอฟริกา
   3.1 ทวีปยุโรปกับแนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
       3.1.1 นโยบายสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรป
       1. แผนปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อม (Environment Action Programme VI)
          1) ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (climate change) เป็นการออกโครงการซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อกำหนดปริมาณการปล่อยก๊าซในแต่ละพื้นที่
          2) ความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity) เป็นการรักษาระบบนิเวศไม่ให้ถูกรบกวนจากระบบนิเวศในภูมิภาคอื่น และบังคับให้การดำเนินกิจกรรมใด ๆ ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดกับความหลากหลายทางชีวภาพ
          3) สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และคุณภาพชีวิต (environment, health and quality of life) เป็นการป้องกันการเกิดมลพิษและหาทางกำจัดสารพิษตามระเบียบ RoHS และระเบียบ REACH
          4) ทรัพยากรธรรมชาติและของเสีย (natural resources and waste) เป็นการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและของเสียตามระเบียบ WEEE ระเบียบ Eco-design และตรา Eco-labelling
       2. การใช้พลังงานทดแทน ได้แก่ การใช้พลังงานจากธรรมชาติ รวมถึงการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าในเยอรมนี และเดนมาร์กมีการส่งออกเทคโนโลยีกังหันลมและสนับสนุนพลังงานลมมากที่สุดในโลก

       นอกจากนี้สหภาพยุโรปได้ออกกฎควบคุมการใช้สารทำลายโอโซน ออกนโยบายเกษตรร่วม ออกนโยบายประมงร่วม และออกกฎควบคุมการนำเข้าไม้ผิดกฎหมายในตลาดของสหภาพยุโรป
       3.1.2 ข้อตกลงโคเปนเฮเกนกับบทบาทของสหภาพยุโรป
       ข้อตกลงโคเปนเฮเกน (Copenhagen Accord) เป็นข้อตกลงที่ว่าด้วยการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส และประเทศที่ร่ำรวยต้องให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ประเทศที่กำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาในระยะแรก ค.ศ. 2010–2012 เป็นจำนวนเงิน 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเพิ่มเป็น 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใน ค.ศ. 2020 ซึ่งเป็นข้อตกลงในการประชุมเจรจาอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เมื่อวันที่ 7–18 ธันวาคม ค.ศ. 2009
       จากการที่ยังไม่มีเป้าหมายและข้อตกลงที่ชัดเจนหลังจากพิธีสารเกียวโตสิ้นสุดใน ค.ศ. 2012 ทำให้ข้อตกลงนี้ไม่ได้รับการยอมรับและสร้างความผิดหวังให้กับประเทศที่เข้าร่วมประชุม
       แม้ยังไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนจากข้อตกลงโคเปนเฮเกน แต่สหภาพยุโรปยืนยันในการลดการปล่อยก๊าซให้ได้ถึงร้อยละ 30 ภายใน ค.ศ. 2020 และให้เงินสนับสนุนจากภาษีพลังงาน ภาษีคาร์บอน หรือการขายโควตาการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาเป็นเงินสนับสนุนให้แก่ประเทศที่กำลังพัฒนา
   3.2 ทวีปแอฟริกากับความพยายามในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
   ประเทศในทวีปแอฟริกาให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาค่อนข้างน้อย ทำให้หลายประเทศต้องได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนต่าง ๆ
   บางประเทศในทวีปแอฟริกาได้จัดทำโครงการเพื่อรักษาและฟื้นฟูสภาพแวดล้อม มีการจัดพื้นที่คุ้มครองเพื่อฟื้นฟูพันธุ์พืชและสัตว์ในอุทยานและเขตสงวนทางตะวันออกของทวีปแอฟริกา มีการจัดโครงการเจ้าหน้าที่อุทยานน้อย การทำให้นกฟลามิงโกได้กลับมาแพร่พันธุ์อีกครั้งหนึ่ง การขับไล่ช้างออกจากพื้นที่การเกษตรด้วยวิธีการธรรมชาติ และการใช้ระบบวนอุทยานในการปลูกธัญพืช
   ในอนุสัญญาเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและพิธีสารเกียวโต ได้มีประเทศต่าง ๆ ในทวีปแอฟริการ่วมลงนาม แต่มีเพียงบางประเทศ เช่น ลิเบีย สาธารณรัฐคองโก แองโกลา ซิมบับเว ที่ให้การลงนามต่ออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) แต่ไม่รับพิธีสารเกียวโต

4. ผลกระทบที่ประเทศไทยได้รับจากการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมในทวีปยุโรปและแอฟริกา
   4.1 ผลกระทบที่ประเทศไทยได้รับจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลก
       1. การกัดเซาะชายฝั่ง
       2. แมลงและพาหะนำโรคระบาด
       3. ฤดูเปลี่ยนแปลง
       4. ภัยพิบัติทางธรรมชาติ

   4.2 ผลกระทบที่ประเทศไทยได้รับจากการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในทวีปยุโรป
       1. ผลกระทบจากระเบียบ WEEE และ RoHS สินค้าที่นำเข้าต้องเป็นไปตามระเบียบ WEEE และระเบียบ RoHS ซึ่งสินค้าของไทยยังไม่ได้มาตรฐานตามระเบียบ ขณะเดียวกันสินค้าที่ไม่ผ่านมาตรฐานของสหภาพยุโรปก็เข้ามาในไทยได้ง่าย ส่งผลให้ไทยสะสมขยะอันตรายมากขึ้น
       2. ผลกระทบจากโครงการ Eco-labelling ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านเงื่อนไขระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรปจะได้รับตราประทับ EU Flower ซึ่งในไทยมีเพียงบริษัทสิ่งทอ 4 บริษัทที่ได้รับตราประทับ EU Flower นอกจากนี้ ไทยยังมีรายได้จากการซื้อสิทธิการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Credit) ของประเทศอุตสาหกรรมในทวีปยุโรป